(เพิ่มเติม) กนง.นัดแรกของปี มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตามตลาดคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 3, 2016 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยอุปสงค์ในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ในขณะที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกสูงขึ้น ทั้งด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบในปัจจุบันจะทยอยปรับสูงขึ้น และมีแนวโน้มจะกลับมาเป็นบวกในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ขณะที่ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืดมีจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ยังคงขยายตัวและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก สะท้อนว่าราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชน

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผ่อนปรน และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) รวมทั้งยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ กนง. ระบุว่า กนง.ยังคงประมาณการจีดีพีปี 59 ไว้ที่ 3.5% เท่ากับประมาณการล่าสุดเมื่อ 25 ธ.ค.58 โดยความเสี่ยงที่มีผลต่อการขยายตัวมากที่สุด คือ ปัจจัยต่างประเทศ ขณะที่ตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ คือ อุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่เป็นไปตามเป้าหมาย

"มองว่าความเสี่ยงด้านต่างประเทศมีมากขึ้นที่จะส่งผลต่อการขยายตัวในปีนี้" นายจาตุรงค์กล่าว

ทั้งนี้ การคงดอกเบี้ยที่ 1.50% เป็นการคาดการณ์ในอนาคตกรณีเศรษฐกิจชะลอตัวลง กนง.ก็ยังมีช่องที่จะสามารถใช้นโยบายการเงินได้อีก โดยระดับดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่าผ่อนคลาย เห็นได้จากการขยายตัวของสินเชื่อไม่ได้ลดลง

นอกจากนี้ ในที่ประชุม กนง. ได้มีการพูดถึงนโยบายการเงินโดยรวม ไม่ได้เฉพาะรายประเทศ เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ประกาศนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ โดยภาพรวมเห็นการขยับตัวของนโยบายการเงินในหลายหลายประเทศ ซึ่งจะต้องติดตามในส่วนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและความผันผวนตลาดต่างประเทศ

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน กนง. มีกลไกดูแลอยู่แล้ว ที่จะส่งผลกระทบน่าจะเป็นความเสี่ยงจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น จีน หรือเอเชียมากกว่าความผันผวนของตลาดการเงิน

กนง.ยังมองว่าทิศทางราคาน้ำมันจะอ่อนค่าลงจากที่ประเมินไว้ครั้งก่อนหน้าที่ 40 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมองว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 59 เป็นการปรับตัวไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดย กนง. ยังให้ความสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายหลักในการดูแลนโยบายการเงิน และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเพิ่มเป็นไปตามกรอบที่วางไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ