"ข้าวสารที่ปะปนกันประมาณ 11 ล้านตันนี้ ถ้าจะนำมาประมูลเป็นการทั่วไปเพื่อบริโภค จะมีตลาดและความต้องการกว้างมากกว่าการระบายเข้าสู่อุตสาหกรรม เพราะสามารถนำไปขายในประเทศ ส่งออก และผลิตเป็นสินค้าอื่นๆ ได้ แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ และมีมาตรการกำกับดูแลการขนย้ายอย่างรอบคอบ เพราะมีทั้งดีและข้าวเสียปะปนกันอยู่ และอาจทำให้มีการนำข้าวล็อตนี้ไปผสมกับข้าวดีขาย ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นในของผู้ซื้อ โดยเฉพาะจากต่างประเทศได้" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว
นางดวงพร กล่าวต่อว่า วันนี้กรมการค้าต่างประเทศได้เชิญผู้สนใจที่เข้าร่วมประมูลข้าวในสต๊อกรัฐ ครั้งที่ 1/59 ปริมาณ 570,000 ตัน แบ่งเป็นการประมูลเป็นการทั่วไป 204,000 ตัน และการประมูลเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 360,000 ตัน โดยข้าวที่เปิดประมูลเป็นการทั่วไป จะเปิดให้ยื่นซองคุณสมบัติได้ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ และยื่นซองเสนอราคาวันที่ 16 ก.พ. ส่วนข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม ก็จะเปิดยื่นซองคุณสมบัติวันที่ 11 ก.พ.เช่นกัน แต่เปิดยื่นซองเสนอราคาวันที่ 17 ก.พ.
"การประมูลข้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเมื่อเดือนธ.ค.58 ไม่ได้เปิดกว้าง เพราะเป็นข้าวไม่ได้มาตรฐาน ถ้าเปิดกว้างให้กับอุตสาหกรรมอาหารคน และสัตว์ ก็เกรงจะมีปัญหาเชื้อราที่เป็นอันตราย แต่ครั้งนี้จะเปิดกว้าง และอุตสาหกรรมรายใหม่สนใจเข้าร่วมมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมผลิตถ่านชนิดพิเศษ อุตสาหกรรมผลิตพลาสติก เป็นต้น สำหรับราคาขั้นต่ำนั้น เนื่องจากราคาข้าวชนิดนี้ ไม่มีราคาตลาด จึงได้เปรียบเทียบกับราคาวัตถุดิบอื่น เช่น มันสำปะหลัง ที่ขณะนี้ กก.ละประมาณ 2 บาท" นางดวงพร กล่าว