โดยขณะนี้มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้ว 51.74 ล้านตันอ้อย ผลิตน้ำตาลได้ 48.49 ล้านกระสอบ (100 กก./กระสอบ) หรือลดลง 10.22 ล้านกระสอบ เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ผลิตได้ 58.71 ล้านกระสอบ โดยมีผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยลดลงเหลือ 93.70 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จากปีก่อนที่มียิลด์อยู่ที่ 99.04 กิโลกรัม หรือลดลงกว่า 5.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย จึงคาดว่าผลผลิตทั้งอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยโดยรวมจะลดต่ำกว่าปีที่แล้วแน่นอน โดยหลายฝ่ายเห็นว่าปริมาณผลผลิตอ้อยปีนี้อาจต่ำกว่า 100 ล้านตัน
ขณะที่ค่าความหวานในอ้อยของฤดูการหีบปีนี้ก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยอยู่ที่ 11.07 ซี.ซี.เอส. เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีค่าความหวานในช่วง 70 วันแรกของฤดูการหีบที่ 11.52 ซี.ซี.เอส. ซึ่งคุณภาพผลผลิตน้ำตาลโดยรวมที่ตกต่ำลงนั้น นอกจากปัจจัยจากสภาพอากาศแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านอ้อยไฟไหม้และอ้อยปนเปื้อน โดยพบว่าปริมาณอ้อยสดเข้าหีบในช่วง 70 วันแรกของฤดูการหีบปีนี้อยู่ที่ 20.56 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็น 40% ขณะที่อ้อยไฟไหม้อยู่ที่ 31.19 ล้านตันอ้อย คิดเป็น 60% ส่วนในแง่ประสิทธิภาพการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลทรายพบว่า โรงงานน้ำตาลใช้กำลังการผลิตหีบต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 1.02 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบกับฤดูการผลิตปีก่อนที่หีบอ้อย 1.01 ล้านตันอ้อย เนื่องจากโรงงานเปิดรับผลผลิตอ้อยครบทั้ง 52 โรง จึงสามารถรองรับผลผลิตอ้อยจากชาวไร่ได้เพิ่มขึ้น
นายสิริวุทธิ์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพมาตรฐานอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลทราย โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวจะเป็นผู้ทำหน้าที่รวบรวมและตรวจสอบข้อมูลเกณฑ์มาตรฐานอ้อย และประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลในช่วงฤดูการหีบอ้อยปี 2558/59 ก่อนนำเสนอให้แก่ กอน. ภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาแบ่งเขตคำนวณราคาอ้อยและสร้างความเป็นธรรมในการแบ่งปันรายได้ของแต่ละเขตคำนวณราคาอ้อย เพื่อให้ทันประกาศใช้ในฤดูการหีบอ้อยปี 2559/60 เป็นต้นไป
สำหรับแนวทางการตรวจสอบคุณภาพอ้อยนั้น ทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้รวบรวมวิธีการตรวจสอบมาตรฐานอ้อยที่ใช้ปฏิบัติทั้งในต่างประเทศและในประเทศ โดยกำหนดแนวทางให้โรงงานน้ำตาลทรายเก็บอ้อยตัวอย่างด้วยการแยกอ้อยสด อ้อยไฟไหม้และอ้อยรถตัด โดยการสุ่มตรวจวันละ 3 ครั้ง เพื่อเป็นตัวอย่างนำไปใช้คำนวณค่าอ้อยปนเปื้อน หากมีสิ่งปนเปื้อนไม่เกิน 3% ในวันที่มีการสุ่มตรวจถือว่าคุณภาพอ้อยอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากมากกว่า 3% ให้คณะทำงานเร่งหาแนวทางป้องกันและแก้ไขต่อไป
ขณะที่ฝ่ายโรงงานน้ำตาลทรายมองว่า การหาสิ่งปนเปื้อนในอ้อยด้วยเครื่อง NIRS (Near Infrared Spectroscopy) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย บราซิล และแอฟริกาใต้ ควรนำมาปรับใช้ในประเทศไทย โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่ระหว่างการทดลองและศึกษา โดยเก็บตัวอย่างชิ้นอ้อยที่ผ่านการเตรียมอ้อยแล้ว เพื่อนำมาหาเปอร์เซ็นต์สิ่งปนเปื้อนในอ้อย แล้วนำไปวัดด้วยเครื่อง NIRS เพื่อหาเปอร์เซ็นต์สิ่งปนเปื้อนต่อไป
"สิ่งปนเปื้อนในอ้อยถือเป็นอีกต้นตอปัญหาของคุณภาพผลผลิตอ้อยที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยลดลง ดังนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมจึงเร่งแก้ไข โดยการกำหนดค่ามาตรฐานอ้อยและประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลที่ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย" นายสิริวุทธิ์ กล่าว