(เพิ่มเติม) ADB ให้เปล่ารวม 3.5 ล้านเหรียญฯแก่ไทยจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ-ช่วยชุมชนรายได้น้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2016 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือเอดีบี ร่วมกับรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นเปิดตัว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งในการบริหารจัดความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และโครงการสนับสนุนการพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงให้กับชุมชนที่มีรายได้น้อย

เงินให้เปล่าจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้จัดสรรให้กับโครงการการบริหารจัดการความเสี่ยงจากน้ำท่วมและการป้องกันภัยพิบัติในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่วนเงินให้เปล่าอีกจำนวน 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐได้จัดสรรให้กับโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อช่วยให้สถาบันทางการเงินเฉพาะกิจสามารถให้บริการทางการเงินแก่ผู้ที่ไม่อยู่ในระบบธนาคารได้

ทั้ง 2 โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนญี่ปุ่นเพื่อลดความยากจน (Japan Fund for Poverty Reduction) ซึ่งบริหารจัดการโดยเอดีบี

นายเจมส์ นูเจน ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอดีบี กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมหาอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลไทยได้พยายามดำเนินมาตรการควบคุมอุทกภัยขั้นสูงหลายวิธี โครงการการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัตินี้จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือของชุมชน เช่น การเตรียมการรับมือกับปัญหาน้ำท่วม การตอบสนองและการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ส่วนโครงการที่สองนี้เป็นการสนันสนุนการเงินแบบองค์รวมเพื่อช่วยลดความแตกต่างของความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการเงินแบบเต็มรูปแบบ

ชุมชนชนบทและชุมชนเมืองที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 5 แห่ง จะถูกเลือกให้เป็นชุมชนนำร่องในการเข้าร่วมโครงการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งจะทำให้การเตรียมการป้องกันอุทกภัยในอนาคตและความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้ ที่ในท้องถิ่นมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นเมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างฉับพลัน ภายใต้โครงการนี้ จะจัดให้มีการอบรมและสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถแบบครบวงจร ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 ปี ตั้งแต่มกราคม 2559 ถึง ธันวาคม 2560

ส่วนโครงการที่สองนั้น จะสนับสนุนหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันทางการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีบทบาทหลักในการขยายการให้บริการทางการเงินแก่คนไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารได้ ความช่วยเหลือดังกล่าวจะดำเนินการผ่านสำนักเศรษฐกิ จการคลัง และสำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนช่วยในการปรับปรุงยุทธศาสตร์ และการวางแผนธุรกิจให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

สำหรับโครงการนี้คาดว่าจะช่วยให้สถาบันการเงินเหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถให้บริการได้ อย่างครบวงจร

หน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ จะได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการทำหน้าที่กำกับดูแล และการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าเมื่อพบการกระทำผิดทางการเงินเพื่อป้องกันผู้บริโภคที่มีระดับรายได้ ระดับต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ณ ปัจจุบัน มีสหกรณ์ออมทรัพย์ ในประเทศไทยทั้งสิ้น 8,000 แห่ง และมีสมาชิกจำนวน 11.5 ล้านคน โดยมีสินทรัพย์ คิดเป็นประมาณ 5% ของสินทรัพย์ทั้งหมดของสถาบันทางการเงิน

โครงการนี้ยังรวมถึงการจัดเสวนาเพื่อแบ่งปันความรู้จากต่างประเทศในเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเป็นการนำเสนอบทเรียนตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กำกับดูแลภาคการเงินของญี่ปุ่น และกระทรวงการคลังของไทย

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าในโครงการ Community-Based Flood Risk Management and Disaster Response in the Chao Phraya Basin มีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานบริหารโครงการ วัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนและส่งเสริมการป้องกันการเกิดอุทกภัยซึ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในชุมชนนำร่อง 5 พื้นที่ โดยจะมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของส่วนราชการ ประชาชนในพื้นที่เพื่อกำหนดความเสี่ยง แผนปฏิบัติการ รวมถึงการวิเคราะห์รูปแบบความเสี่ยงและความรุนแรงที่เกิดจากอุทกภัยและจัดทำมาตรการลดความเสี่ยงของชุมชน

ขณะที่ความช่วยเหลือทางวิชาการ ในโครงการ Strengthening Specialized and Semi-formal Financial Institutions to Support Financial Inclusion คิดเป็นวงเงิน 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นหน่วยงานบริหารโครงการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยโครงการนี้จะครอบคลุมการจัดทำยุทธศาสตร์การดำเนินงานของธนาคารรัฐ การจัดตั้งธุรกิจประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย การกำหนดหลักเกณฑ์และการกำกับดูแลสหกรณ์ รวมทั้งการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือการเข้าถึงบริการทางการเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ