ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 70.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 91.7
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยมีปัจจัยลบมาจากความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับคาดการณ์ GDP ปี 59 มาอยู่ที่ 3.7% จากเดิมที่คาดไว้ 3.8%, การส่งออกของไทยในปี 58 ติดลบ 5.78%, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย ขณะที่ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ สศค.เผย GDP ปี 58 ขยายตัว 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การบริโภคของภาคประชาชนยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนักในช่วงนี้ เนื่องจากประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก แต่ทั้งนี้คาดว่าการฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงกลางไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง
ทั้งนี้ มองว่าปัญหาข้อพิพาทระหว่างประเทศ และปัญหาการก่อการร้าย ได้ปกคลุมบรรยากาศเศรษฐกิจโลก รวมทั้งภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกยังปรับตัวลดลง และมีการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันโลกจะหลุดต่ำกว่า 30 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ทำให้อำนาจซื้อของโลกดูไม่ค่อยดี ส่งผลให้ทั้งธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเหลือไม่ถึง 3% จากเดิมที่เคยมองว่าน่าจะใกล้เคียง 3% หรืออาจมากกว่า 3% ที่สำคัญคือเศรษฐกิจจีนถูกจับตามองว่ามีความน่าเป็นห่วงสูง และยังไม่ฟื้นตัว จึงทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนเข้าสู่ระดับติดลบเช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ยังชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อนจากเดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีแรกนี้อย่างน้อย 1-2 ครั้ง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นตัวบั่นทอนความรู้สึกของประชาชน
“เดิมเราคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่สถานการณ์ในช่วงเดือนม.ค.มีความผันผวนมาก และเห็นถึงความไม่นิ่งของเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปี หลังจากมีเหตุการณ์ข้อพิพาทซาอุฯ กับอิหร่าน การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ การปฏิบัติการของกลุ่ม IS ในอินโดนีเซีย สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้เป็นความกังวลของโลก" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมกันนี้ ยังมองว่า มาตรการกระตุ้นของภาครัฐยังไม่สามารถพลิกฟื้นให้เกิดความคึกคักหรือฟื้นตัวในระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างชัดเจน ประกอบกับความน่ากังวลต่อบรรยากาศการส่งออกในปีนี้ รวมหน่วยงานภาครัฐได้ปรับมุมมองเศรษฐกิจในปีนี้ลงมาเหลือ 3.7% ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ผิดจากแนวโน้มที่ควรจะต้องปรับตัวขึ้น ดังนั้นจึงเห็นว่าในช่วงนี้รัฐบาลจะต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศในช่วงระหว่างที่ยังไม่เกิดความเป็นรูปธรรมในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ เพราะไม่เช่นนั้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังมีโอกาสจะปรับตัวลดลงต่อ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มากขึ้น
“ถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่องว่างก่อนที่จะเกิดโครงการเมกะโปรเจ็กท์และไม่ทำให้ภาพของเศรษฐกิจมีความคึกคักแบบโดดเด่น อัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งผ่านกองทุนหมู่บ้าน โครงการพัฒนาตำบล โครงการลงทุนขนาดเล็กของภาครัฐ เรากังวลว่าความเชื่อมั่นอาจชะลอตัวลง เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวขึ้น แต่เรายังไม่ปรับมุมมองความเชื่อมั่นที่มองว่ายังเป็นทิศทางขาขึ้นอยู่ เพียงแต่ปัจจัยเศรษฐกิจโลกค่อนข้างเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงมาก" นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมองว่าภาคการท่องเที่ยวจะยังเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้ปีนี้ไม่ให้ทรุดตัวลงไปมาก ท่ามกลางสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวอย่างโดดเด่นนัก