"เบื้องต้นจะมีสินทรัพย์รอการขาย (NPA) จากธนาคารของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ กรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IBank) กรมธนารักษ์ บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บบส.) บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (บสส.) รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ไปจนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บางส่วน ตรงนี้มีประมาณ 2.5 พันยูนิต รวมทั้งยังมี NPA จากภาคเอกชนอีกราว 7-9 พันยูนิตที่จะเข้ามาร่วมในช่วงแรกด้วย โดยราคาเริ่มต้นห้องชุดจะอยู่ที่ประมาณ 7 แสนบาทต่อหน่วย และบ้านแถว 9 แสนบาทต่อหน่วย" นายสุรชัย กล่าว
ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล รองกรรมการผู้จัดการ ธอส. เปิดเผยว่า ธอส. อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเบื้องต้นกำหนดว่าต้องเป็นผู้มีรายได้ที่ 1.5-2 หมื่นบาทต่อเดือน และต้องไม่เคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ใดมาก่อน เพราะหากเคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาก่อนก็ถือว่าไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้ โดยธนาคารจะปล่อยกู้ให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ 100% ซึ่งโครงการมีวงเงินทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านบาท ธนาคารจะรับผิดชอบในส่วนของค่าโอนและจดจำนอง คิดเป็นปีละ 270 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเพื่อปล่อยกู้ในโครงการบ้านประชารัฐนั้นยังอยู่ระหว่างพิจารณา แต่จะเป็นอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ แบบคงที่ประมาณ 5-6 ปี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระผู้มีรายได้น้อยในการผ่อนชำระ
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าตลาดสินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 2559 จะขยายตัวได้อย่างน้อย 4-5% จากปี 2558 โดยคาดว่าจะมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ในระบบอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด 5.8-5.9 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อคงค้างในระบบในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่าระบบสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของไทยยังขยายตัวได้เป็นอย่างดี โดยคิดเป็น 20% ของ GDP
ทั้งนี้ ในปี 2559 ยังมีปัจจัยบวกสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างมาก โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐในส่วนต่างๆ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง การลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท จาก 25 ล้านบาท และการเร่งลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ
สำหรับปี 2559 ธนาคารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 1.6 แสนล้านบาท มีโครงการสำคัญได้แก่ การทำข้อตกลงกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปล่อยกู้เพื่อพัฒนาแฟลตดินแดงของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) วงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท, ปล่อยกู้บ้านประชารัฐ 3 หมื่นล้านบาท, ปล่อยสินเชื่อสวัสดิการในอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั้งหมดอีกด้วย และเตรียมแผนระดมเงินฝากจากรายย่อยให้มากขึ้นตามข้อเสนอของที่ปรึกษาการเงิน