อธิบดีกรมการค้าภายใน มั่นในว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยป้องกันพฤติกรรมแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจได้ ทำให้ธุรกิจเกิดความเกรงกลัว เพราะได้ปรับปรุงกฎหมายให้เข้าไปดูแลพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบได้รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจที่จะเกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และดึงดูดการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในไทยได้เพิ่มขึ้น
สำหรับสาระสำคัญในการแก้ไขครั้งนี้ ได้แก่ การปรับโทษทางอาญาให้เหมาะสมกับความร้ายแรงของพฤติกรรม และเพิ่มโทษทางปกครอง โดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจสั่งปรับธุรกิจที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบได้ และยังเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ลดขั้นตอนการพิจารณา ลดหย่อนโทษ เอาผิดกับการกระทำนอกราชอาณาจักร การเอาผิดกรณีการร้องเรียนที่เป็นเท็จ
นอกจากนี้ยังได้ปรับเพิ่มให้รัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายใต้กฎหมายแข่งขัน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการแข่งขันกับธุรกิจรายอื่น แต่มีข้อยกเว้นการกระทำที่เป็นประโยชน์สาธารณะ หรือการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล ปรับเพิ่มการควบรวมกิจการสามารถดำเนินการได้เลย แต่ต้องแจ้งให้คณะกรรมการฯทราบภายหลังการควบรวมแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน และปรับปรุงคำนิยามผู้มีอำนาจเหนือตลาดให้เป็นสากลมากขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานคณะกรรมการฯ จะเป็นอิสระในการบังคับใช้กฎหมาย โดยคณะกรรมการฯ จะคัดเลือกจากปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ 4 กระทรวง ร่วมกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานฯ จะแยกออกเป็นองค์กรอิสระ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์
"หากกฎหมายฉบับแก้ไขนี้มีผลบังคับใช้ ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย และกลับมาเป็นต้นแบบอีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้ไทยเป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายแข่งขันตั้งแต่ปี 42 และบังคับใช้มา 17 ปี เพิ่งจะมาแก้ไขสำเร็จเอาตอนนี้" น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ กล่าว