"อาคม" เผยปรับแผนโครงการรถไฟไทย-จีนใหม่เพื่อลดต้นทุน รอสรุปร่วมกันปลาย ก.พ.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2016 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ยืนยันโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทาง 118.14 กิโลเมตร จะมีการก่อสร้างเต็มโครงการ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็นเฟสเพื่อลดต้นทุนโครงการในช่วงแรก ระยะแรกจะก่อสร้างตั้งแต่กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย โดยช่วงกรุงเทพฯ- แก่งคอย, แก่งคอย-นครราชสีมา จะเป็นระบบทางคู่ ส่วนช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จะก่อสร้างเป็นทางเดี่ยวก่อน ขณะที่ช่วง แก่งคอย –มาบตาพุด ตามแผนเดิมจะชะลอการก่อสร้างเป็นระยะต่อไป จนกว่าจะมีความต้องการของปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น และต้องมีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม

การปรับแผนใหม่ดังกล่าวช่วยให้ต้นทุนโครงการจากประมาณการเดิมที่ 5 แสนกว่าล้านบาท ลดลงไปประมาณ 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่การเชื่อมต่อด้านผู้โดยสารจากจีน-ลาว เข้าหนองคาย-โคราช-กรุงเทพฯ ยังมีความสะดวกเชื่อมต่อไร้รอยต่อ ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะแนวเส้นทางในลาวเป็นทางเดี่ยวที่เน้นขนส่งผู้โดยสาร โดยทางจีนจะทำรายละเอียดเพิ่มเติมในการปรับเปลี่ยนดังกล่าว และจะสรุปร่วมกันในการประชุมครั้งที่ 10 ช่วงปลายเดือน ก.พ.นี้

รมว.คมนาคม ยังกล่าวถึงผลหารือกับ Mr.Tsutomu SHIMURA รองอธิบดีกรมการรถไฟ ผู้แทนกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เรื่องการพัฒนาเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (Lower East-West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 574 กม. ตามบันทึกความร่วมมือ (MOC) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งว่า บริษัทที่ปรึกษาของญี่ปุ่นได้เริ่มสำรวจแนวเส้นทาง เพื่อสรุปแผนการปรับปรุงรางรถไฟขนาด 1 เมตรเดิมที่มีอยู่ และแผนการปรับเป็นระบบทางคู่ในอนาคตต่อไป โดยในวันที่ 5 ก.พ.นี้จะมีการทดลองเดินรถสินค้าตัวอย่างด้วยตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 ฟุต ที่สถานีหนองปลาดุก จากนั้นจะมีการทดลองเดินรถสินค้าที่สายเหนือและสายอีสานด้วย และประเมินผลต่อไป

ส่วนรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม โดยได้หารือถึงแนวเส้นทางที่ทับซ้อนกับความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ตั้งแต่ช่วงบางภาชี-บางซื่อที่มีเขตทางจำกัด ซึ่งชัดเจนแล้วว่า รถไฟไทย-ญี่ปุ่นจะแยกรางไม่ใช้ร่วมกับใครเพราะมีเทคโนโลยีแตกต่างกัน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะพิจารณาจัดสรรการใช้พื้นที่ในแต่ละโครงการ โดยบางช่วงจะต้องมีการจัดหาพื้นที่เพิ่มเติม ขณะที่ช่วงรังสิต-ดอนเมือง-บางซื่อซึ่งพื้นที่จำกัดมากที่สุดนั้นได้หารือถึงทางเลือกต่างๆ เช่น ให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ใช้ทางร่วมกับระบบรถไฟไทย-ญี่ปุ่น หรือรถไฟไทย-จีน, ใช้ชานชาลาร่วมกัน โดยชานชาลาจะอยู่ตรงกลางระหว่างทางรถไฟ ซึ่งฝั่งหนึ่งจะเป็นทางวิ่งรถไฟไทย-ญี่ปุ่น อีกฝั่งเป็นทางวิ่งของแอร์พอร์ตลิงก์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ