ด้านนายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า จังหวัดตรังมีจำนวนเกษตรกรที่ปลูกยางทั้งหมด 66,938 ราย รวมเนื้อที่ 1,550,154 ไร่ โดยมีเนื้อที่เปิดกรีด 1,321,658 ไร่ ปริมาณผลผลิตทั้งหมด 303,981 ตัน สำหรับการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ โดยมีจุดรับซื้อยางในโครงการฯ จำนวน 36 จุด กระจายครอบคลุมทุกอำเภอของจังหวัดตรัง ขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.พ.59) มีปริมาณยางที่รับซื้อทั้งหมด 81,988.17 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 3,478,279.14 บาท แบ่งเป็น ยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 จำนวน 11,592 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 14.14 และน้ำยางสด(DRC) จำนวน 70,396.17 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 85.86
สำหรับปัญหาที่พบจากการดำเนินโครงการ คือ สถาบันเกษตรกรที่เป็นจุดรับซื้อ/แปรรูปยาง จากน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควัน มองว่าค่าใช้จ่ายไม่คุ้มค่า เช่น ค่าดำเนินการ ร้อยละ 1 ของมูลค่ายาง ซึ่งจะต้องจัดการน้ำยางสดในปริมาณ 3 ตันเศษ จึงจะได้เนื้อยางแห้ง 1 ตัน แต่ได้รับค่าดำเนินการเพียง 420 บาท ส่วนค่าจ้างแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควันกำหนดไว้ที่ 4.60 บาท/กก. ในขณะที่ต้นทุนจริงอยู่ที่ประมาณ 5.30 บาท/กก. ซึ่ง กยท. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการมีแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเพิ่มค่าบริหารจัดการและค่าจ้างดำเนินการ เช่น ค่าจ้างแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควัน ควรเพิ่มจาก 4.60บาท/กก. เป็น 5.00 บาท/กก. ส่วนปัญหาอื่นๆ กยท. จะเร่งประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหารือ และเร่งเปิดจุดรับซื้อยางเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ปลูก สร้างความเข้าใจให้เกษตรกรผลิตยางได้คุณภาพตรงตามหลักเกณฑ์การรับซื้อของโครงการฯ และสร้างความเข้าใจให้ชาวสวนยางในพื้นที่รับทราบข้อมูลข่าวสารมากขึ้น
"ขอย้ำว่า กยท. มีการกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการปฏิบัติงานที่ชัดเจน รัดกุม มีการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต ตั้งแต่การรับซื้อจนถึงสถานที่ปลายทาง มีคณะกรรมการประจำจุดรับซื้อจากหลายหน่วยงาน รวมถึงหน่วยงาน ปปช. สตง. และ คสช. ร่วมสังเกตการณ์"ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการ กยท. กล่าว