เนื่องจากที่ผ่านมา ไทยเคยส่งออกข้าวไปอิหร่านปีละหลายหมื่นตัน แต่การค้าข้าวระหว่างกันได้หยุดชะงักลงเป็นการชั่วคราวอันเป็น ผลสืบเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวจะช่วยให้ไทยสามารถส่งออกข้าว ไปอิหร่านได้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันรัฐบาลอิหร่านมีนโยบายให้นำเข้าข้าวจากทุกประเทศ โดยหน่วยงาน GTC นำเข้าข้าวได้ร้อยละ 20 ส่วนอีกร้อยละ 80 จะให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำเข้า
ในการพบหารือกับหน่วยงาน GTC ครั้งนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้มอบข้าวคุณภาพดีและข้าวสีหลากหลายชนิดที่ไทยสามารถผลิตให้แก่ผู้บริหาร GTC พิจารณาเผยแพร่สู่ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเพื่อขยายโอกาสในการส่งออกข้าวต่อไป โดยฝ่ายไทยยืนยันความพร้อมที่จะจัดหาข้าวคุณภาพดีส่งมอบให้อิหร่าน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) หรือเอกชนต่อเอกชน (P to P)
นอกจากนั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ยังได้เชิญกระทรวงสาธารณสุขของอิหร่านเดินทางมาตรวจสอบกระบวนการผลิตและระบบตรวจสอบคุณภาพข้าวของไทย และสร้างความมั่นใจว่าข้าวไทยผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของอิหร่านด้วย ซึ่งหลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะต้องเร่งทำแผนการตลาดข้าวในอิหร่าน โดยเน้นการส่งเสริมให้ผู้บริโภครู้จักข้าวไทยมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวขาวเมล็ดยาว ไม่เหนียวและมีความร่วน ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวอิหร่าน
ทั้งนี้ ในการเดินทางเยือนอิหร่านดังกล่าว รมว.พาณิชย์ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงซื้อขายข้าว (MOU) ระหว่างผู้ส่งออกข้าวของไทยและผู้นำเข้าข้าวของอิหร่าน รวม 4 ฉบับ ปริมาณรวม 300,000 ตัน มูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาท (ประมาณ 119.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)