ในปีงบประมาณ 2560 สศอ. ได้จัดทำคำของบประมาณจำนวน 1,017 ล้านบาท เพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยให้สามารถแข่งขันได้บนเวทีการค้าโลก โดยมี 3 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ 1. ยกระดับผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมและระบบบริหารจัดการ 2. ยกระดับผลิตภาพแรงงานให้มีทักษะสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม และ 3. พัฒนาปัจจัยแวดล้อมเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพ
โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ 1. พัฒนาผู้ประกอบการ จำนวน 1,600 โรงงาน 2. พัฒนาบุคลากร จำนวน 10,000 คน และ 3. พัฒนาเครือข่าย 36 เครือข่าย ทั้งนี้เชื่อว่าจะสามารถขยับอันดับผลิตภาพของประเทศไทยจากอันดับที่ 51 มาอยู่อันดับที่ต่ำกว่า 45 จาก 61 ประเทศทั่วโลกได้ในอนาคต
เนื่องจากที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไทยมีการขยายตัวเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ โดยอาศัยปัจจัยทุน และแรงงานเป็นหลัก รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิตโดยรวม (Total Factor Productivity: TFP) ของประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ ดังจะเห็นได้จากในปี 2557 ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการขยายตัวติดลบร้อยละ 1.1 ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของปัจจัย TFP ติดลบร้อยละ 2.52 ส่วนปัจจัยทุน และปัจจัยแรงงานขยายตัวร้อยละ 0.80 และ 0.64 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการใช้ปัจจัยการผลิตโดยรวม และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่สมดุลของภาคอุตสาหกรรมไทยที่จำเป็นต้องพึ่งพาทุนและแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยทางด้านผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมของ International Institute for Management Development : IMD ในปี 2558 ยังพบว่า ประเทศไทยมีอันดับผลิตภาพที่ต่ำ อยู่อันดับที่ 51 จาก 61 ประเทศทั่วโลก ส่วนผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม มีอันดับผลิตภาพที่ต่ำเช่นกัน โดยอยู่อันดับที่ 52 จาก 61 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และคงไม่สามารถทำให้อุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว