ทั้งนี้ หลังจากบังคับใช้กฎหมาย IUU (พฤษภาคม 2558-ปัจจุบัน) ของจังหวัดตรัง พบว่า ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้จากการทำการประมงในจังหวัดตรัง ปี 2558 ปริมาณการจับ ประมาณ 90,000 ตัน มีมูลค่า ประมาณ 3,200 ล้านบาท ปริมาณเรือประมง ขนาดมากกว่า 30 ตันกรอส จำนวน 430 ลำ ขนาดต่ำกว่า 30 ตันกรอสจำนวน 1,428 ลำ รวม 1,858 ลำ ปริมาณเรือประมงในปี 2558 ลดลงจากปี 2557 เป็นจำนวน 238 ลำ ซึ่งเป็นเรือที่ถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบด้วย เรืออวนลาก อวนล้อม อวนครอบปลากะตัก
ขณะเดียวกัน กรมประมงได้ประเมินสถานการณ์ภายใต้สถานการณ์บังคับใช้ IUU ของจังหวัดตรัง พบว่า ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งส่วนราชการและเอกชน ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง มีความเข้าใจในการฟื้นฟูทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเป็นไปตามหลักสากล การบังคับใช้กฎหมาย อยู่ระหว่างออกกฎหมายลำดับรองที่ใช้ในการเฝ้าระวัง เช่น การตรวจสัตว์น้ำ ณ ท่าเทียบเรือ ความถูกต้องของปริมาณ ชนิด ตรงกับเครื่องมือ สุขอนามัยของเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ ซึ่งคาดว่า หากมีความพร้อมเรื่องกฎหมายในการบังคับใช้ก็สามารถป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และสามารถควบคุมได้
ส่วนความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหา IUU ในภาพรวมขณะนี้ กรอบกฎหมายการประมง : ประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายประมงให้มีความเป็นปัจจุบันและครอบคลุมทั้งในส่วนของเรื่อง IUU การทำประมงนอกน่านน้ำ มีกรอบแผนของการบริหารจัดการประมงทะเลไทยอย่างชัดเจน และแผนปฏิบัติการต่างๆ ที่แสดงถึงการต่อต้านการทำประมง IUU เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบและมาตรฐานสากล ซึ่งขณะนี้ได้มีการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับ IUU จำนวน 52 ฉบับ
การพัฒนาระบบและการควบคุม ติดตาม เฝ้าระวังการทำประมง : มีการจัดทำแผนการควบคุม ตรวจสอบแห่งชาติ (NPCI) เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการควบคุม และตรวจสอบที่มีความทันสมัย ใช้ระบบอิเลคทรอนิกส์เป็นมาตรฐานสากลสำหรับการปฏิบัติงานตรวจสอบทั้งสายการผลิตให้เกิดความเข้มแข็งน่าเชื่อถือ อาทิ ระบบติดตามเรือประมง (VMS) ได้มีการจัดตั้งศูนย์ VMS ที่ส่วนกลางและ 15 ศูนย์ส่วนในภูมิภาค เพื่อการติดตามที่เป็นระบบ โดยได้ออกกฎหมายบังใช้ให้เรือประมงไทยติดตั้ง VMS ซึ่งขณะนี้มีเรือประมง > 30 GT ที่ติดตั้ง VMS แล้ว จำนวน 5,250 ลำ (ประกอบด้วย เรือประมง ขนาด >60 GT 2,076 ลำ และ เรือประมง ขนาด 30-60 GT 3,174 ลำ โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูล VMS ไปยังศูนย์ PIPO และการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ ซึ่งระบบ VMS ของไทย ได้รับการชื่นชมว่าเป็นระบบที่ออกแบบดีมีขีดความสามารถสูง โดยเมื่อวันก่อนเจ้าหน้าที่ EJF ก็ได้เดินทางมาให้คำแนะนำในการวิเคราะห์พฤติกรรมการทำประมงกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและคาดการณ์สถานการณ์ด้านการประมง อาทิ ระบบเครือข่ายฐานข้อมูลเรือประมงและการทำประมง ระบบ E-license ในการออกใบอนุญาตทำการประมง ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2559 ระบบการตรวจสอบย้อนกลับอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งจากเดิมเราเก็บข้อมูล เช่น logbook MCPD MCTD ฯลฯ เป็นเอกสาร ก็ได้ปรับเป็นรูปแบบอิเลคทรอนิกส์
นอกจากนี้ยังได้มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมประมงและกรมศุลกากรในการทำ MOU แลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมการปฏิบัติตรวจสอบการนำเข้า นำผ่าน และการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันสินค้าประมง IUU โดยที่ผ่านมามีการควบคุมการเข้า-ออกท่าของเรือประมง (PIPO) การสร้างผู้สังเกตการณ์บนเรือประมง (Observer onboard) เพื่อตรวจสอบการทำประมงและ แรงงานประมงกลางทะเล และการปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ มีการปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงในประเทศเสร็จแล้ว และเริ่มใช้งานแล้ว โดยขณะนี้กำลังจัดทำระบบต้นแบบการตรวจสอบย้อนกลับอิเลคทรอนิกส์สำหรับสัตว์น้ำนำเข้า ซึ่งคาดว่าจะใช้ได้ในปี 2559 ซึ่งถือเป็นระบบที่เป็นมาตรฐานสากล
รวมทั้งยังได้มีการประกาศท่าเรือสำหรับเรือประมงต่างประเทศ จำนวน 39 ท่า และแจ้งให้ IOTC ทราบและประกาศให้ประเทศสมาชิกและองค์การอื่นทราบแล้ว โดยมีการจัดทำคู่มือปฏบัติงานในการตรวจสอบทั้งโรงงาน การออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ การออกใบรับรองการแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก้ผู้ปฏิบัติงานอย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน