รมว.พาณิชย์ เดินหน้าจัดงาน“Organic and Natural Expo”ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 รับกระแสมาแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 9, 2016 10:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะจัดงานแสดงสินค้า Organic & Natural Expo
ดังกล่าวอีกเป็นครั้งที่ 6 ในเดือนกรกฎาคม เป็นเวลา 4 วัน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำหรับในปีนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 40,000 ราย เนื่องจากสินค้าอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งพบว่าหลังจากการจัดงานดังกล่าวมีผู้ที่มาชมงานได้รับความรู้ และความเข้าใจเรื่องสินค้าอินทรีย์มากขึ้น อีกทั้งพบว่าปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มหันมาทำเกษตรแนวธรรมชาติมากขึ้น คือ ค่อยๆ พัฒนาตามลำดับโดยการลดการใช้สารเคมี จนที่สุดก็พร้อมจะปรับตัวเข้าสู่การทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ

ที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้จัดงานแสดงสินค้า Organic & Natural Expo 2015 อย่างต่อเนื่องมาแล้ว 5 ครั้ง ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอินทรีย์และธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากจะเป็นที่รวมผู้ผลิต ผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าและบริการอินทรีย์และธรรมชาติอย่างครบวงจร และมีเวทีการสัมมนาให้ความรู้ด้านต่างๆ เช่น มาตรฐานสินค้าอินทรีย์ แนวโน้ม และช่องทางการตลาด และยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่ด้านการผลิต การรับรองมาตรฐาน การตลาดและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกร และผู้ผลิตสินค้าตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำสู่ผู้บริโภค รวมไปถึงสร้างภาพลักษณ์สินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ไทยให้เป็นที่นิยมในตลาดทั้งในและต่างประเทศ จึงนับเป็นเวทีการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหารของภูมิภาคอาเซียน

โดยในปีที่ผ่านมามีบริษัทเข้าร่วมจัดแสดง 215 ราย 287 คูหา มีผู้เข้าร่วมชมงานทั้งชาวไทย และต่างชาติ 37,734 ราย มียอดขายทันทีในงานกว่า 15 ล้านบาท

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ส่วนในปี 2560 กระทรวงฯ มีแผนจะจัดงานดังกล่าว ร่วมกับผู้จัดงานอินทรีย์ระดับโลก คือ Nuremberg Messe ซึ่งเป็นผู้จัดงาน BIOFACH ซึ่งเป็นงานแสดงนิทรรศการอาหารและงานบริการอินทรีย์ชั้นนำของโลก งานดังกล่าวจัดขึ้นที่เมืองนูเร็มเบอร์ก (Nuremburg) ประเทศเยอรมนี จัดติดต่อกันมาปีนี้เป็นปีที่ 27 มีประเทศที่เข้าร่วมจัดแสดงถึงจาก 134 ประเทศทั่วโลก ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่นั้นมาจากประเทศเยอรมนี ออสเตรีย อิตาลี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งประเทศไทย ระยะเวลาของงานแสดงนิทรรศการมีทั้งหมด 4 วัน ซึ่งนอกจากการแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการ 2,235 รายแล้ว ยังมีการประชุมต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่และเล็กกว่า 74 รายการ รวมไปถึงการประชุมเชิงนโยบายของกลุ่มผู้ประกอบการด้านอินทรีย์อีกด้วย

"ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการหารือ และการเตรียมการเพื่อหาแนวทางความร่วมมือเพื่อยกระดับงาน Organic &Natural Expo ให้เป็นงานระดับสากลชั้นนำของเอเซีย ซึ่งในอนาคตนอกจากจะสามารถดึงบริษัทที่อยู่ในวงการอินทรีย์ ทั้งที่เป็นสินค้าอาหาร และที่ไม่ใช่อาหารรวมทั้งบริการต่างๆมาประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเวทีที่จะให้ผู้ประกอบการไทย และเกษตรกรได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี่เกี่ยวกับสินค้าอินทรีย์ อีกทั้งยังเป็นการแสดงศักยภาพด้านความปลอดภัยของอาหารของประเทศไทย" นางอภิรดี กล่าว

ทั้งนี้ จากรายงานสภาพการณ์เกษตรอินทรีย์โลก ระบุว่า มูลค่าสินค้าอินทรีย์ในตลาดโลก ปัจจุบันมีมูลค่ารวมสูงถึงกว่า 2 ล้านล้านบาท ถึงแม้ว่าในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา สภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็ยังสามารถขยายตลาดได้กว่า 2.5 เท่า สำหรับประเทศไทยคือแหล่งผลิตสินค้าอินทรีย์ที่มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศ โดยพืชที่นิยมปลูกแบบอินทรีย์มากที่สุดในไทย คือ ข้าว ซึ่งถือว่าไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ เป็นสินค้าที่ ตลาดในสหภาพยุโรปต้องการสูงมาก และมีแนวโน้มในการขยายตลาดมากขึ้นในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามปริมาณและชนิดของผลผลิตก็ยังมีจำนวนไม่มาก

ที่สำคัญประเทศไทยในฐานะหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก จึงมีโอกาสอย่างมากในการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรไปสู่สินค้าอินทรีย์ ทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศ และเพื่อส่งออก ซึ่งการจะก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอินทรีย์ ที่สำคัญของโลกได้นั้น ภาครัฐบาลพร้อมที่จะช่วยผลักดันและเร่งรัดให้มีการทำเกษตรอินทรีย์และสินค้าแปรรูปอินทรีย์ ทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหารให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้กระทรวงพาณิชย์มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อการบริหารจัดการทั้งในด้านการผลิตและการตลาดควบคู่กันไป

โดยกระทรวงฯ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการตลาดสินค้าอินทรีย์ ของไทยทั้งในและต่างประเทศ สำหรับปี 2557-2559 รวม 5 ยุทธศาสตร์หลัก ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการตลาดสินค้าอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาฐานข้อมูลที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการวางแผนการตลาดเชิงรุก ยุทธศาสตร์ที่ 3 การขยายตลาดสินค้าอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างความหลากหลายของสินค้าอินทรีย์ให้ตรงตามความต้องการตลาด และยุทธศาสตร์ที่ 5 การสนับสนุนเชิงนโยบายโดยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณามาตรการสนับสนุนสินค้าอินทรีย์เชิงนโยบาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ