"ในภาพรวม แนวโน้มเกษตรอินทรีย์ค่อนข้างที่จะมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดี มีการเติบโตของตลาดที่มั่นคงและต่อเนื่อง สินค้าอินทรีย์แม้จะให้ผลผลิตต่ำ ตลาดเล็ก แต่ก็มีมูลค่าที่สูงและเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อที่สูง" รมว.พาณิชย์ กล่าว
สำหรับ งาน BIOFACH นี้เป็นงานเกี่ยวกับสินค้าอินทรีย์ทั้งที่เป็นสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และความงาม เสื้อผ้า และของใช้ที่ทำจากวัตถุดิบที่เป็นอินทรีย์ เป็นงานที่ใหญ่ระดับโลก เน้นการเจรจาธุรกิจเท่านั้น ปี 2559 นี้จัดเป็นปีที่ 27 มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 2,100 ราย พื้นที่จัดแสดง 70,200 ตารางเมตร ที่ผ่านมามีผู้เข้าชมงานกว่า 44,500 คน นอกเหนือจากเวทีการจัดแสดงแล้วยังมีการสัมมนา และ Workshop ที่เกี่ยวกับสินค้าอินทรีย์อีกกว่า 70 รายการ บริษัทที่จะเข้าร่วมจัดแสดงได้จะต้องเป็นบริษัทที่มีสินค้าผ่านการรับรองมาตรฐานสากลแล้วเท่านั้น
ในส่วนของประเทศไทยในปีนี้ มีบริษัทที่เดินทางไปเข้าร่วมงานกับกระทรวงพาณิชย์ รวม 13 บริษัท ที่อาคาร 1 ในพื้นที่ 113.88 ตารางเมตร สินค้าที่นำไปจัดแสดง อาทิ ข้าว เส้นหมี่ เครื่องปรุงอาหาร กะทิ ชาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพ เป็นต้น ในงานจะมีกิจกรรมนิทรรศการข้าวไรซ์เบอรี่ สาธิตการปรุงอาหาร รวมทั้งมีการส่งสินค้าไทยเข้าประกวด Best new products Award ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เสนอผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไทยเข้าประกวด 2 ชนิด คอ ข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ และเครื่องปรุงผัดกระเพราอินทรีย์
ด้านนางดวงกมล เจียมบุตร เลขานุการ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการเข้าร่วมงานในครั้งนี้แล้ว ยังจะนำคณะเข้าพบกับผู้บริหารร้านค้าสินค้าอินทรีย์ และผู้ประกอบกิจการฟาร์มอินทรีย์ เพื่อสร้างเครือข่ายและนำเทคนิคมาถ่ายทอดแก่เกษตรกร เนื่องจากเยอรมนีเป็นทั้งประเทศผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์ และผู้ซื้อรายใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งเป็นตลาดที่มีความต้องการสูงและขยายตัวต่อเนื่อง สินค้าจะต้องมีฉลากระบุชัดเจนว่าเป็นสินค้าอินทรีย์ (Organic) ซึ่งก็ต้องมีใบรับรองมาตรฐาน หรือหากไม่ถึงระดับอินทรีย์ต้องมีการระบุในฉลากว่าเป็นสินค้าธรรมชาติ (Natural) เท่านั้น
การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นมีหัวใจสำคัญ คือต้องไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ในขั้นตอนการผลิต ซึ่งการตรวจสอบสินค้าเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่การตรวจสอบเฉพาะสินค้าที่ผลิตแล้วเท่านั้น แต่กระบวนการตรวจสอบจะต้องย้อนไปตรวจสอบถึงแหล่งผลิต ตั้งแต่ดินที่จะใช้ปลูก น้ำ สภาพแวดล้อม รวมทั้งปัจจัยการผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และสารกำจัดแมลง พื้นที่สำหรับทำเกษตรอินทรีย์นั้นต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยทำการเกษตรทั่วๆไปที่มีการใช้สารเคมีมาไม่น้อยกว่า 3 ปี อยู่ห่างจากโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ห่างจากแปลงที่ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี และมีแหล่งน้ำที่ปลอดสารพิษ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต้องไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี และไม่มีการใช้สารตัดแต่งพันธุกรรมในการผลิต โดยทั่วไปช่วงระยะการปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชปกติมาทำพืชอินทรีย์ จะใช้ระยะเวลา 12-18 เดือน หรือกว่านั้นขึ้นกับสภาพของพื้นที่ เมื่อผ่านระยะการปรับเปลี่ยนแล้วผลผลิตที่ได้จึงจะถือว่าเป็นอินทรีย์
สำหรับเกษตรกรที่ต้องการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ต้องสมัครขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากหน่วยงานตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประมาณว่าพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีประมาณ เกือบ 240 ไร่ โดยมีการขยายตัว 9% และมีจำนวนฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานกว่า 9 พันฟาร์ม ขยายตัว 7% โดยตลาดสินค้าอินทรีย์ไทยมีมูลค่าการค้ารวม 2,331.55 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วน 77.9% เป็นการส่งออก และ 22.06% บริโภคในประเทศ
ช่องทางการจำหน่ายในไทยส่วนใหญ่จะเป็นซุปเปอร์มาเก็ต รองลงมาเป็น ร้านค้าเฉพาะอย่าง ร้านค้าทางออนไลน์ ความนิยมในการบริโภคและการรับรู้เรื่องอาหารอินทรีย์ของไทยยังค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่จะเน้นไปยังกลุ่มที่รักษาสุขภาพ ซึ่งเมื่อเทียบกับต่างประเทศ จะเน้นไปที่ความรับผิดชอบของสังคมต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า และความต้องการที่จะมีสินค้าคุณภาพดี ไม่มีสารตกค้าง โดยจะให้ความเชื่อมั่นต่อตรารับรองมาตรฐานอินทรีย์มาก ซึ่งตรารับรองมาตรฐานนี้มีทั้งมาตรฐานประเทศ และมาตรฐานสมาคม ซึ่งได้รับการยอมรับเสมอกัน ในขณะที่ประเทศไทยยังมีความเข้าใจเรื่องการรับรองมาตรฐานไม่ชัดเจน และมีหลายตรารับรอง ซึ่งยังไม่ได้มีการเทียบเคียงกัน
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปถือเป็นหนึ่งในสามตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งของโลก ซึ่งเมื่อรวมเอาตลาดของสหภาพยุโรปเข้ากับอีก 3 ตลาดใหญ่คือ อเมริกา ฝรั่งเศส และแคนาดาแล้วจะได้สัดส่วนของตลาดเกษตรอินทรีย์ของโลกถึง 95% ตลาดเกษตรอินทรีย์ หรือออร์แกนิคในต่างประเทศที่มีการขยายตัวค่อนข้างสูงมาก ได้แก่ ตลาดออร์แกนิคในสหรัฐอเมริกาในปี 2557 ขยายตัว 11%, ฝรั่งเศส 10%, เยอรมัน 5% (แต่ที่มีการขยายตัวมากที่สุด คือ สวีเดน 38%)
ในอนาคตนอกเหนือจากเรื่องสิ่งแวดล้อม การงดใช้สารเคมีที่ชาวโลกให้ความสำคัญแล้วยังจะมีเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainability) การควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การควบคุมการนำเข้าสินค้า GMO รวมทั้งการให้ความสำคัญเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น (GI) ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลชุดนี้ได้บรรจุไว้ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแล้ว