และในวันที่ 12 ก.พ.59 บริษัทฯ จะมาชำระเงินงวดที่ 2 สำหรับข้าวอีก 5,000 ตัน และจะต้องขนย้ายทั้ง 10,000 ตันแรกออกโกดังภายใน 20 วันทำการ หรือภายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามสัญญา บริษัทฯ จะต้องถูกปรับ ส่วนการขนย้ายข้าวออกจากคลังขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ที่จังหวัดนครสวรรค์ จะใช้มาตรฐานการขนย้ายเดียวกันนี้
สำหรับการขนย้ายข้าวออกจากโกดังจนถึงโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของบริษัทฯ นั้น อคส.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการขนย้ายระบายข้าวสารตามนโยบายรัฐบาล (วอร์รูม) เพื่อกำกับดูแลการขนย้ายให้เป็นไปตามแผน และไม่ให้มีข้าวไหลเข้าสู่ผู้บริโภค โดยได้วางแผนคุมการขนย้ายอย่างรัดกุมที่สุด และทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยคุมเข้มตั้งแต่กระบวนการขนย้าย ตรวจสอบประวัติผู้ขับขี่รถบรรทุก การขนข้าวขึ้นบรรทุก การคลุม (ซีล) ผ้าใบ การชั่งน้ำหนัก และติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อบันทึกภาพการขนข้าว เคลื่อนย้ายข้าวจากสถานที่เก็บไปสู่โรงงาน มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่บริษัทฯ รวมถึงที่จุดการผลิต บ่อหมัก เพื่อให้เห็นว่า ข้าวเข้าสู่กระบวนการผลิตจริง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่า จะไม่มีข้าวหลุดออกไปสู่ผู้บริโภค
ด้านน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่กระทรวงการคลังระบุว่า มีข้าวหายไปจากสต๊กรัฐบาลประมาณ 390,000 ตันนั้นว่า ข้าวไม่ได้หาย แต่อาจจะเป็นการลงบัญชีที่ผิดพลาด และยังไม่ได้ข้อสรุปทางบัญชีเท่านั้น ซึ่งตนได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อคส. และอ.ต.ก. มาหารือแล้ว พร้อมกับได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อให้ได้ข้อสรุปทางบัญชี และข้อเท็จจริงภายในวัน ที่ 12 ก.พ.นี้ จากนั้นจะนำส่งให้กับคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่มีปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานต่อไป