"เราประเมินว่าการปรับขึ้นอัตราภาษีบุหรี่ดังกล่าว จะทำให้การจัดเก็บรายไดของกรมฯ เพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านบาท จากปีงบประมาณ 2558 สามารถจัดเก็บภาษีบุหรี่ได้ราว 6 หมื่นล้านบาท" นายสมชาย กล่าว
อนึ่ง วานนี้ (9 ก.พ.) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ทั้งฝั่งราคาและปริมาณ โดยฝั่งของราคาได้ปรับขึ้นจาก 87% เป็น 90% ของราคา CIF (ราคานำเข้า) หรือเต็มเพดาน ส่วนฝั่งปริมาณได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1 บาท/กรัม เป็น 1.1 บาท/กรัม และเศษของกรัมให้นับเป็น 1 กรัม โดยให้เสียในอัตราที่คิดเป็นเงินสูงกว่า มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.59 เป็นต้นไป
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบในครั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นการสนับสนุนนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบของรัฐ เพื่อลดการเข้าถึงของนักสูบหน้าใหม่และลดการบริโภคสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นปัญหาสังคมที่ทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจาการบริโภคบุหรี่ โดยปัจจุบันมีการบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-4% ต่อปี
จากการดำเนินตามนโยบายดังกล่าวคาดว่ากรมสรรพสามิตจะจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 15,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท ภายในปีงบประมาณ 2559 (ก.พ.-ก.ย.59) ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้ออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดราคายาสูบที่ทำในราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 โดยกำหนดราคายาสูบชนิดบุหรี่ซิกาแรตที่ทำในราชอาณาจักร เพื่อถือเป็นราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมยาสูบ สำหรับใช้เป็นมูลค่าในการคำนวณค่าแสตมป์ยาสูบ
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการและกวดขันให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตทั่วประเทศ โดยเฉพาะตามพื้นที่ที่คาดว่าอาจมีการกระทำผิด เช่น บริเวณแนวตะเข็บชายแดน แหล่งชุมชน และสถานบริการ เพื่อสร้างความเป็นธรรม โปร่งใส และความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการที่เสียภาษีโดยสุจริต และเพื่อเป็นมาตรการเสริมทางอ้อมในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคให้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและถูกต้องตามกฎหมาย