คกก.นโยบายประมงแห่งชาติ เห็นชอบนโยบายขับเคลื่อน 4 ด้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2016 18:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เผยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน เห็นชอบนโยบายขับเคลื่อนงานด้านประมงมี 4 ด้าน คือ 1.การประมงน่านน้ำไทย 2.นอกน่านน้ำไทย 3.การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ 4.อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการในแต่ละด้านขึ้นมาพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 6 เดือน

นอกจากนี้ เห็นชอบแผนกำหนดปริมาณการจับสัตว์ให้สอดคล้องกับการออกใบอนุญาตเรือ โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.59 ดังนี้ สัตว์น้ำหน้าดินในอ่าวไทยจับได้ 715,294 ตัน ฝั่งอันดามันสามารถจับได้ 216,467 ตัน, ปลาผิวน้ำในฝั่งอ่าวไทยจับได้ 230,803 ตัน ฝั่งอันดามันสามารถจับได้ 110,156 ตัน, ปลากะตัก ฝั่งอ่าวไทย จับได้ 172,607 ตัน ส่วนฝั่งอันดามันสามารถจับได้ 29,560 ตัน

สำหรับปัญหาความเดือนร้อนของประมงพื้นบ้านที่ได้ร้องเรียนให้มีการยกเลิกมาตรา 34 ซึ่งกำหนดห้ามประมงพื้นบ้านทำการประมงนอกเขตชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเลนั้น ที่ประชุมฯ เห็นชอบด้วยการออกประกาศตามมาตรา 71 (1) เรื่องเครื่องมือประมง วิธีการทำประมง พื้นที่ทำการประมง ขนาดของเรือประมง และเงื่อนไขอื่นที่ห้ามใช้การทำประมง โดย รมว.เกษตรและสหกรณ์ หรือคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเป็นผู้พิจารณา รวมถึงประกาศยกเลิกเครื่องมือทำประมงพื้นบ้านที่ต้องขอใบอนุญาตบางชนิดตามมาตรา 32 ซึ่งอยู่ในอำนาจของอธิบดีกรมประมง ซึ่งส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถทำการประมงได้มากขึ้นกว่าเดิม และยังเห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อศึกษาและกำหนดแนวทางรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงชาวประมงพื้นบ้านและอยากให้มีการดูแลอย่างทั่วถึง แต่ที่ประชุมฯ ไม่ได้มีการหยิบยกประเด็นกลุ่มชาวเลราไวย์มาหารือ

ส่วนกรณีชาวประมงขนาดเล็กได้รับความเดือดร้อนจากการใช้เรือหางยาวจับปลาและประกอบการท่องเที่ยวควบคู่กันนั้น อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า ตามกฎหมายไม่สามารถที่จะดำเนินการได้ ต้องมีการไปลงทะเบียนประเภทเรืออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เนื่องจากวิถีประมงพื้นบ้านเปลี่ยนไปก็จะมีการทำทั้งสองอย่าง จึงมอบหมายให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ไปหาแนวทางแก้ปัญหาว่าจะสามารถออกใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทได้หรือไม่

สำหรับการประกาศปิดอ่าว 3 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ในช่วงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า จะช่วยให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะปลาทูที่อยู่ในช่วงวางไข่ และการดำเนินการในเรื่องนี้เป็นยอมรับของชาวประมง ซึ่งได้ดำเนินการมากว่า 20 ปีแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ