TDRI เผยศก.ไทยปี 59 ได้แรงขับเคลื่อนจากปัจจัยในปท. แนะจับตาปัจจัยเสี่ยงตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2016 19:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานเสวนา "แนวโน้มเศรษฐกิจการลงทุนและมุมมองการขับเคลื่อนของประเทศในปี 59" คาดว่าเศรษฐกิจไทย (GDP) จะขยายตัวได้ 3.5% จากภาครัฐที่มีความพยายามที่จะกระตุ้นความเชื่อมั่นจากการลงทุนต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แม้การลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมกันจะคิดเป็น 5% ของ GDP แต่มองว่านโยบายต่างๆ ที่ออกมา โดยเฉพาะการลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น รถไฟทางคู่ ฯลฯ ก็น่าจะเรียกความเชื่อมั่นการลงทุนของภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนตาม ขณะที่ด้านงบลงทุนในปีนี้มองว่าเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งอัตราการเบิกจ่ายก็น่าจะดีขึ้นตามไปด้วย

ส่วนภาคการส่งออกในปีนี้ ประมาณการณ์ไว้เติบโต 0-1% จากปีก่อนที่ติดลบ 5% เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวจะส่งผลดีต่อการส่งออก และการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ก็ยังไปได้ดีในปีนี้ แม้ว่าการส่งออกไปจีนยังชะลอตัว

สำหรับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้มีการบริโภคน้ำมันเพิ่ม และส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรต่อราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลงตาม แต่โดยรวมแล้วราคาน้ำมันที่ลดลงยังคงเป็นบวกต่อประเทศไทย

ขณะที่เศรษฐกิจโลกในระยะอีก 5 ปีจากนี้ จะมีการเติบโตอย่างช้าๆ ในระดับไม่เกิน 4% จากที่ผ่านมาเติบโตในระดับ 3-4% ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกว่า New normal โดยให้จับตาดูกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่หลายๆ ประเทศได้กู้เงินเพื่อจะมาลงทุนในประเทศตัวเอง ในรูปสกุลเงินดอลลาร์และยูโร ฉะนั้นความเสี่ยงหลักของโลกในปีนี้ คือ กลุ่มประเทศเกิดใหม่ จากการแบกรับภาระหนี้เกินตัว ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้แบงค์ต่างๆทั้งในประเทศตลาดเกิดใหม่ และสหรัฐฯได้รับผลกระทบ ซึ่งหากจะเข้าไปลงทุนก็ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น

ส่วนความเสี่ยงถนัดมา คือความผันผวนของเงินไหลเข้า-ออก ระหว่างปี จากสหรัฐฯ น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เม็ดเงินไหลออกไปสู่ตลาดเกิดใหม่ ซึ่งสหรัฐฯ มีท่าทีที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ 3-4 ครั้ง รวมถึงให้จับตาดูจีนในเรื่องของการเป็นหนี้สะสมจากการนำเงินไปใช้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น การขยายกำลังการผลิตในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มการผลิตเหล็กต่างๆ ส่งผลให้เกิดกำลังผลิตส่วนเกิน ซึ่งจีนควรมีการลดการผลิตลงหรือมีการควบรวมกัน

"ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศไทยคงเกิดจากภายนอก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ถดทอยจากที่จีนเป็นคู่ค้าของเรา กับปัจจัยภัยแล้งที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ของการปลูกข้าวนาปรัง ขณะที่ช่วงนาปีเองก็อาจจะเจอช่วงน้ำน้อยไปด้วย ซึ่งจะกระทบกับภาคกำลังซื้อภาคเกษตรกร และหนี้ของคนในกลุ่มนั้นค่อนข้างจะสูง บั่นทอนกำลังซื้อของคนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยพอสมควร โดยผู้ที่ทำธุรกิจกับผู้มีรายได้น้อยก็อาจจะได้ระบผลกระทบได้" น.ส.กิริฎา กล่าว

ส่วนโอกาสการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV มองว่าประเทศดังกล่าวมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 10% ซึ่งยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้าไปขาย หรือไปลงทุนตั้งฐานการผลิตที่จะส่งผลให้ต้นทุนถูกลง

ด้านนายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลา 3 ปี (2013-2015) จะเห็นเงินไหลออกจากโซนเอเชียและมีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นในวงเงินราว 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเม็ดเงินได้กลับไปสู่ประเทศ Develop country

ทั้งนี้เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาจะไหลไปยังตลาดตราสารหนี้มากกว่า ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย โดยนักลงทุนยังมีความกังวลต่อการลงทุนในหุ้นอยู่ และอาจจะทิ้งช่วงการลงทุนในหุ้นไปสักระยะหนึ่ง แต่เมื่อไหร่เริ่มเห็นตัวเลขของเศรษฐกิจจีนดีขึ้น หรือเห็นสัญญาณเชิงบวก ความเชื่อมั่นของการลงทุนก็จะเริ่มกลับมา และมีเม็ดเงินไหลมาสู่ตลาดเกิดใหม่ได้

"ความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วไป ยังไม่กลับมามากนัก ซึ่งการลงทุนในหุ้นอย่างเดียวอาจจะไม่ได้แล้ว ขณะที่กลยุทธ์การลงทุนท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน สิ่งหนึ่งที่เราดูคือความสามารถการทำกำไรของ บจ.ไทย ย้อนหลัง 10 ปี ที่จะเห็นได้ว่ามีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 4% ซึ่งจากนี้ก็จะต้องกลับมาดูว่า จะมีบริษัทไหนโตได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตามปีนี้ก็เป็นอีกปีที่คาดว่า กำไรบริษัทจดทะเบียน (EPS Grow) น่าจะเติบโตในระดับที่สูงอยู่" นายชัยพร กล่าว

นายชัยพร กล่าวแนะการลงทุนโดยใช้จังหวะและมองหุ้นที่มีการกลับตัว หรือ Turnaroud ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่นักลงทุนจะมีเวลาไตร่ตรองมากขึ้น รวมถึงหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากสินค้าโภคภัณฑ์, หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว, กลุ่มโรงพยาบาล ขณะที่ไม่แนะนำให้ลงทุน คือ กลุ่มอาหาร ที่อาจจะมีคู่แข่งค่อนข้างมาก และยังไม่เห็นการเติบโตที่สูงในหุ้นกลุ่มนี้ และกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่น่าจะลงทุนแบบเก็งกำไร ซึ่งความสามารถในการทำกำไรไม่ได้ดีมากนัก ประกอบกับควรจัดพอร์ตแบบกระจายสินทรัพย์ ลดความเสี่ยงของทองคำ

นายพีรพงษ์ จิระเสวีจินดา กรรมการผู้จัดการและ Chief Investment Officer (CIO) - Fund Management บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการเติบโตที่ดี แต่ก็มีความท้าทายสูง นักลงทุนควรกระจายการลงทุน โดยควรจัดพอร์ตการลงทุน แบ่งเป็น 20% เป็นหุ้น, 70% ลงในตราสารหนี้ และที่เหลือลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยแนะการลงทุนในหุ้นกลุ่มการบริโภค ,หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล , กลุ่มภาคบริการด้านปัจจัย 4 และกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่มีการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนอย่างมาก

สำหรับดัชนีปี 59 มองว่าน่าจะอยู่ในระดับ 1,550 จุด ซึ่งเป็นระดับปกติ ภายใต้สมมติฐานการประมูลโครงการสาธารณูปโภคมีออกมาอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของภาพเศรษฐกิจในประเทศและทั่วโลกอยู่ในระดับกลาง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง การปรับใช้มาตรการทางการเงินของสหรัฐฯ มีทีท่าเข้มงวดขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ และการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบในระดับกลาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ