ทั้งนี้ ธปท.คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ราว 2.8%
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า แม้ทิศทางเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ในช่วงการฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวกระจุกตัว และที่น่าเป็นห่วงคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ได้กระจายไปยังภาคการเกษตร หรือ ภาคเศรษฐกิจในชนบท เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรยังถูกกดดันจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับภาระหนี้สินของคนในชนบทอยู่ในระดับสูง จึงมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน
สำหรับมาตรการของภาครัฐที่จะมีผลต่อเนื่องในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ คือ การสนับสนุนโครงการลงทุนที่ช่วยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะนโยบายด้านอุปทาน เช่น การสร้างระบบสาธารณูปโภค การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การสร้างฐานสำหรับการแข่งขันในระยะยาว การปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งการปฏิรูปการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ
"การพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย มีความสำคัญเหมือนกับการยกเครื่องรถยนต์ที่ค่อนข้างเก่าและอ่อนแรงมาเป็นเวลานาน การเดินทางยังต้องเผชิญถนนที่เป็นหลุมบ่อมากขึ้น เราจึงต้องการรถยนต์ที่มีทั้งโชคอัพ หรือระบบรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี และต้องมีเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งจะทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง"นายวิรไท กล่าว
แม้เศรษฐกิจไทยจะมีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินโลก แต่ภาคการเงินของไทยถือว่าได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาแห่งอื่นๆ เนื่องจากไทยมีกันชนหรือมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยเฉพาะฐานะด้านการต่างประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ที่เข้มแข้ง
"ไทยสามารถรับมือกับความผันผวนจากภายนอกในช่วงที่ผ่านมาได้ค่อนข้างดี เปรียบแหมือนว่าวันนี้เราเดินทางอยู่บนถนนลูกรัง เป็นหลุมเป็นบ่อ แต่รถของเรามีแหนบ โชคอัพ รองรับแรงกระแทกที่ดี คนในรถจึงไม่เวียนหัวมาก แต่เครื่องยนต์อาจอ่อนแรงไปบ้าง วิ่งได้ไม่เร็วทันใจผู้โดยสาร" ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ
ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ยังไม่ควรชะล่าใจ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงสูง จากปัจจัยต่างๆ ทั้งนี้ธปท.จะติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกอย่างใกล้ชิดและประมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรอบด้าน รวมทั้งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน