"เรื่องดังกล่าวไทยดำเนินการแก้ไขมานานกว่า 10 ปี แต่วันนี้ต้องเร่งขับเคลื่อนให้มีความรวดเร็วขึ้นเพราะหลายอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ไทยก็ต้องดำเนินการตามพันธะสัญญาระหว่างประเทศ"
นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำ ถึงแนวทางแก้ปัญหาใน 3 ข้อหลัก ซึ่งสิ่งสำคัญคือ 1.การป้องกันด้วยการปลูกจิตสำนึก ที่ไม่ใช้ของปลอมและเข้าใจว่ามีข้อกฎหมายบังคับไว้อย่างไร ซึ่งต้องสร้างการเรียนรู้และต้องไปส่งเสริมสินค้าโอท็อปให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ซึ่งเชื่อว่าสินค้าไทยทำได้ดีกว่า เพียงแต่ต้องสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดและดูกำลังซื้อของแต่ละคน หากไม่สามารถซื้อสินค้าแบรนด์ดังได้ก็ต้องไม่ใช้ของปลอม และจะต้องมีการพิจารณามาตรการสำหรับผู้ใช้ของปลอมนอกเหนือจากมาตรการกับผู้ขายเพียงอย่างเดียว
2.การปราบปราม ที่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งทางตำรวจ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ซึ่งเป็นกลไกระดับจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ที่ต้องดูแลในส่วนของผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ และต้องพิจารณาว่ากฎหมายมีเพียงพอ หรือ หากมีแล้วสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ซึ่งทั้งหมดต้องทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน เพราะหากไม่สามารถทำได้จะไม่ผ่านการประเมินของต่างประเทศ ซึ่งอย่าคิดว่าแม้จะมีกฎหมายแรงที่สุดแล้วจะแก้ปัญหาได้ เพราะคนไทยไม่ชอบกฎหมาย เป็นคนรักอิสระ มีความเป็นประชาธิปไตยและการอ้างถึงหลักสิทธิมนุษยชน
3. คือการให้บริการการจดสิทธิบัตร ที่ขณะนี้มีเรื่องค้างอยู่10,000 รายการ จึงต้องหาแนวทางเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอซึ่งได้สั่งการเรื่องนี้ในที่ประชุม
สำหรับปัญหาขาดแคลนบุคลากร ในทุกหน่วยงาน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกหน่วยงานต้องหาทางทำงานร่วมกัน ปรับการทำงานเพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดสรรข้าราชการให้ครบตามอัตราที่ร้องขอทุกตำแหน่ง แม้จะมีการขยายอัตราบ้างแต่มีทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็นแต่หากยังมีการขออัตราบุคคลเพิ่ม จะให้ กพ. รื้อระบบใหม่ของทุกกระทรวง พร้อมปรับโครงสร้างส่วนราชการ
ทั้งนี้ได้มีการหารือกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะงานด้านปราบปรามที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ