ทั้งนี้ ธปท.คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ราว 2.8%
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า แม้ทิศทางเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ในช่วงการฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวกระจุกตัว และที่น่าเป็นห่วงคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ได้กระจายไปยังภาคการเกษตร หรือ ภาคเศรษฐกิจในชนบท เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรยังถูกกดดันจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับภาระหนี้สินของคนในชนบทอยู่ในระดับสูง จึงมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน
สำหรับมาตรการของภาครัฐที่จะมีผลต่อเนื่องในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ คือ การสนับสนุนโครงการลงทุนที่ช่วยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะนโยบายด้านอุปทาน เช่น การสร้างระบบสาธารณูปโภค การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การสร้างฐานสำหรับการแข่งขันในระยะยาว การปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งการปฏิรูปการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ
"การพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย มีความสำคัญเหมือนกับการยกเครื่องรถยนต์ที่ค่อนข้างเก่าและอ่อนแรงมาเป็นเวลานาน การเดินทางยังต้องเผชิญถนนที่เป็นหลุมบ่อมากขึ้น เราจึงต้องการรถยนต์ที่มีทั้งโชคอัพ หรือระบบรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี และต้องมีเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งจะทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง"นายวิรไท กล่าว
แม้เศรษฐกิจไทยจะมีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินโลก แต่ภาคการเงินของไทยถือว่าได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลกค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาแห่งอื่นๆ เนื่องจากไทยมีกันชนหรือมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยเฉพาะฐานะด้านการต่างประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ที่เข้มแข้ง
"ไทยสามารถรับมือกับความผันผวนจากภายนอกในช่วงที่ผ่านมาได้ค่อนข้างดี เปรียบแหมือนว่าวันนี้เราเดินทางอยู่บนถนนลูกรัง เป็นหลุมเป็นบ่อ แต่รถของเรามีแหนบ โชคอัพ รองรับแรงกระแทกที่ดี คนในรถจึงไม่เวียนหัวมาก แต่เครื่องยนต์อาจอ่อนแรงไปบ้าง วิ่งได้ไม่เร็วทันใจผู้โดยสาร" ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ
ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ยังไม่ควรชะล่าใจ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงสูง จากปัจจัยต่างๆ ทั้งนี้ ธปท.จะติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกอย่างใกล้ชิดและประมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรอบด้าน รวมทั้งรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน
ขณะที่พันธกิจหลักสำคัญ 3 ประการของ ธปท.คือ 1.การรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งมองว่าการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในทิศทางที่ผ่อนปรน ทั้งด้านนโยบายอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่เข้มแข็งนัก
อย่างไรก็ดี จากภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน จึงต้องเฝ้าระวังและติดตามพฤติกรรมแสวงหาความเสี่ยงที่อาจจะสะสมจนก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบการเงินในอนาคตได้ รวมทั้งต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมในภาวะที่ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีมาก และตลาดเงินตลาดทุนโลกมีแนวโน้มผันผวนขึ้นในระยะข้างหน้า
ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบจากในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น เกิดจากปัจจัยอุปทานเป็นหลัก เพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ดีเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำนี้ได้ช่วยให้นโยบายการเงินอยู่ในทิศทางที่ผ่อนปรน เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะก่อให้เกิดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ
"ก่อนหน้านี้มองเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกช่วงกลางปี แต่มีโอกาสที่จะเลื่อนเป็นปลายไตรมาส 2 หรือช่วงไตรมาส 3 เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังผันผวน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดีไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายการทางการเงิน เนื่องจากตอนนี้ธปท.ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอยู่แล้ว ซึ่งเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอยู่แล้ว"
2.การรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน โดยแนวทางของ ธปท.จะมุ่งรักษาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินและส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินทำหน้าที่สนับสนุนเศรษฐกิจได้เต็มประสิทธิภาพ โดยจะติดตามและประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบโดยต่อเนื่อง และนอกจากนั้น ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ธปท.จะเริ่มทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น โดยระยะแรก ธปท.จะมุ่งกำกับดูแลระบบการบริหารความเสี่ยงสำคัญของ SFI เช่น การดำรงเงินกองทุน การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และกระบวนการด้านสินเชื่อ ขณะที่ระยะต่อไปจะมุ่งเน้นเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงของ SFI ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และช่องทางการให้บริการทั้งในปัจจุบันและอนาคต
3.การรักษาเสถียรภาพระบบการชำระเงิน โดยเห็นว่าความสามารถในการเข้าถึงบริการการชำระเงิน ความมั่นคงปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพถือเป็นหัวใจของระบบการชำระเงินที่ดี ซึ่งปัจจุบันระบบการชำระเงินต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย เช่น การคุกคามทางโลกไซเบอร์ ซึ่งทำให้ต้องมีแนวทางในการรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าวที่สอดประสานกันอย่างเป็นระบบ โดยภาครัฐต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามแนวปฏิบัติที่ดีของสากล ขณะที่สถาบันการเงินต้องมีมาตรการป้องกันและติดตามเฝ้าระวังการปฏิบัติงานประจำวันให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวด้วยว่า ในปีนี้ ธปท.ยังมุ่งผลักดันงานพัฒนาในอีกหลายเรื่อง เช่น แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3, การพัฒนาระบบการชำระเงิน เช่น ระบบ Any ID ที่ทำให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงในราคาที่เป็นธรรม, การขับเคลื่อน Payment Roadmap ระยะที่ 3 โดยกำหนดมาตรฐานกลางด้านต่างๆ สำหรับบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนบัตร ATM และบัตรเดบิตเป็นแบบ chip card ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมการชำระเงินปลอดภัย ถูกลง มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และสามารถคุ้มครองผู้ใช้บริการได้ดีขึ้น
ในปีนี้ปัจจัยภายนอกจะมีผลสำคัญมากขึ้นต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน โดยเฉพาะนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีอย่างต่อเนื่องก็จะมีเงินทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดทุนได้ ขณะเดียวกันต้องพิจารณาเรื่องการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ยังมีความแตกต่างกัน เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งหากยังมีความเชื่อว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะเห็นการไหลกลับของเงินทุน
“ปีนี้ ในส่วนของไทยเองปัจจัยภายนอกจะมีผลสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะทิศทางการเงินของสหรัฐ และความเสี่ยงต่างๆ ของประเทศเศรษฐกิจของใหม่ที่ต้องเผชิญ" ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว
สำหรับแผนการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน ยืนยันว่า ธปท.ดำเนินการอย่างระมัดระวังและค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเชื่อว่าจะยังสามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูง ซึ่งสิ่งที่ทำนี้จะเป็นรากฐานสำคัญของการช่วยสร้างความเชื่อมโยงเศรษฐกิจ เช่น ธปท.จะให้มีการปล่อยกู้ในรูปเงินบาทแก่กลุ่มประเทศ CLMV หรือจีนตอนใต้ได้โดยตรง ซึ่งจะเป็นการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่จะมีผลช่วยสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
ผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ว่าถ้าหากตลาดตีความว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นในลักษณะที่ชะลอลง เงินทุนก็จะไหลกลับมาสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยอื่นอีก เช่น ความกังวลในเรื่องตราสารการเงินบางประเภท ความกังวลเรื่องสถานะของธนาคารพาณิชย์บางแห่งในยุโรป ซึ่งจะทำให้เงินทุนไหลกลับมาในประเทศที่มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีเงินทุนไหลกลับเข้ามาในประเทศไทย และในภูมิภาคนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดี การสร้างภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งจำเป็น เพราะในสภาพปัจจุบันที่อาจจะเกิดความผันผวนทางการเงินขึ้นได้นั้นการบริหารความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งจำเป็นของภาคธุรกิจทั้งการค้าและการลงทุนต่างประเทศ
ส่วนความเป็นห่วงกรณีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่กระจายตัวนั้น มองว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐจะสามารถเข้ามามีส่วนช่วยทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้กระจายตัวลงไปสู่ภูมิภาคได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไม่ได้มีผลเพียงแค่กระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะมีผลในการยกระดับประสิทธิภาพของการเข้าถึงบริการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้การบริการสาธารณูปโภค ตลอดจนสวัสดิการ ความเป็นอยู่ต่างๆ ของประชาชนในต่างจังหวัดดีขึ้นด้วย