นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า การส่งออกไทยมีความเสี่ยงที่จะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน จากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยที่ลดน้อยลงตามเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ระดับต่ำ และปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยที่ต้องใช้ระยะเวลาการแก้ไข โดยธนาคารคาดว่าจะปรับลดประมาณตัวเลขการส่งออกของไทยลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 2% ซึ่งจะมีการทบทวนอีกครั้งภายในเดือน มี.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นจากปีก่อน โดยประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะเติบโตได้ราว 3% โดยอาศัยการขับเคลื่อนจากการลงทุนภาคเอกชนที่จะเกิดขึ้นตามหลังการลงทุนภาครัฐที่นำร่องไปบางส่วนแล้ว นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีทิศทางเติบโตขึ้น ช่วยชดเชยการบริโภคภายในประเทศที่ได้รับแรงกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง รวมทั้งผลกระทบจากปัญหาราคสินค้าเกษตรตกต่ำและภัยแล้ง ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อกลุ่มครัวเรือนในระดับรากฐาน
ด้านสถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้นั้นมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น โดยคาดว่าในเดือน ก.พ.ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นไปทดสอบที่ 35 บาท/ดอลลาร์ หลังจากคาดการณ์ว่าเฟด จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ และยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะต่อไป รวมทั้งอาจจะทำให้กนง. ปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้นโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี
นอกจากนั้น ยังต้องติดตามการประกาศตัวเลข PMI ของจีนในต้นเดือน มี.ค.นี้ และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สำคัญ โดยหากตัวเลข PMI ของจีนออกมาต่ำกว่าระดับ 50 จะถือว่าเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลจีนต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าลง ซึ่งจะกระทบต่อค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินหยวนที่จะแข็งค่ามากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการค้าขายระหว่างไทยกับจีน รวมถึงการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนที่จะเข้ามายังประเทศไทยด้วย
"ปัจจุบันแบงก์ชาติใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อกำหนดดอกเบี้ย เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนปี 97 ที่ตอนนั้นเราขายดอลลาร์ออกมาแล้วซื้อบาท โดยตอนนี้กรอบเงินเฟ้อยังเป็นไปตามเป้าหมายแบงก์ชาติแล้ว จึงอยากให้ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนแทน"นายกอบสิทธิ์ กล่าว