ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรลูกค้าของธนาคาร หรือเป็นเกษตรกรทั่วไปที่ธนาคารได้สอบสวนและพิจารณารับขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าประจำสาขา เป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในปี 2558/59 และต้องแสดงสมุดทะเบียนเกษตรกรที่ได้รับการรับรองการปลูกและจำนวนพื้นที่การปลูกมันสำปะหลังจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเกษตรกรที่มีมันสำปะหลังเป็นของตนเองและยังไม่ได้ขุดจำหน่าย โดยยินยอมทำหนังสือรับรองปริมาณหัวมันสำปะหลังต่อ ธ.ก.ส. โดยมีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ปลูกมันสำปะหลังให้การรับรองความมีอยู่จริงของหัวมันสำปะหลัง และผ่านการตรวจสอบของพนักงานพัฒนาธุรกิจประจำสาขา สำหรับวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 50,000 บาท แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของราคาประเมินมูลค่า มันสำปะหลังส่วนที่ยังไม่ขุด โดยคำนวณจากราคาเฉลี่ยที่ 2.00 บาทต่อกิโลกรัม และปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังเฉลี่ยที่ 3,500 กิโลกรัมต่อไร่ หรือขอกู้ได้ไม่เกินไร่ละ 2,100 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดชำระคืนหนี้เงินกู้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันกู้ ระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 - 30 เมษายน 2559
"ในช่วงที่เกษตรกรลูกค้าอยู่ในระหว่างเข้าร่วมโครงการชะลอเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง หากมีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระในช่วงดังกล่าวกับ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นการคลายความกังวลจากปัญหาภาระหนี้สิน ธ.ก.ส.จะพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของเกษตรกรลูกค้าที่มีอยู่เดิมออกไปจนกว่าเกษตรกรจะมีรายได้จากการขุดมันสำปะหลังจึงค่อยมาชำระหนี้"นายกลักษณ์ กล่าว
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังได้ออกโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยดปี 2558/59 วงเงินสินเชื่อ 4,600 ล้านบาท เกษตรกรเป้าหมาย 20,000 ราย เพื่อให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น การใช้ระบบน้ำหยดในไร่มันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) และคุณภาพของผลผลิตมันสำปะหลัง อีกทั้งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ในระยะยาวและลดความเสี่ยงจากภาวะฝนแล้ง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง
สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรลูกค้าของธนาคารหรือเกษตรกรทั่วไปที่ธนาคารรับขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้าประจำสาขา ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2558/59 และต้องแสดงสมุดทะเบียนเกษตรกรที่ได้รับการรับรองการปลูกและจำนวนพื้นที่การปลูกสำปะหลังที่เป็นปัจจุบัน จากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีความตั้งใจในการนำเงินกู้ไปลงทุนในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก (ในระบบน้ำหยด) ธนาคารกำหนดวงเงินกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท เพื่อนำไปลงทุนขุดบ่อบาดาล หรือแหล่งน้ำอื่นๆ และค่าวางระบบน้ำหยด อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 24 เดือนนับแต่วันรับเงินกู้ หลังจากนั้นเป็นอัตรา MRR (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 7) กำหนดชำระหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้และที่มาแห่งรายได้ของลูกค้า โดยให้ชำระหนี้คืนเสร็จไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันกู้ และเริ่มจ่ายเงินกู้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2558 - 31 ธันวาคม 2559