ดังนั้น สภาพัฒน์จึงปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 59 ลงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันเป็นสำคัญ โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังเป็นอีกปีที่มีความผันผวน โดย GDP ปรับลดลงดังกล่าวจากสมมติฐานดังต่อไปนี้ เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัว 3.4% ปริมาณการค้าโลกขยายตัว 3.2% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35.50-36.50 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบ 32-42 ดอลลาร์/บาร์เรล และราคาสินค้าส่งออกติดลบ 1-0% ราคาสินค้านำเข้าติดลบ 2.5% ถึง ติดลบ 1.5% การเบิกจ่ายภาครัฐอยู่ที่ 93%
"การประมาณการเศรษฐกิจปีนี้มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ตลอดจนปัญหาราคาน้ำมัน ซึ่งจากเดิมคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีนี้ แต่จากที่ดูสถานการณ์แล้ว คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ซึ่งสาเหตุนี้ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก"นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. กล่าว
อย่างไรก็ตาม GDP ในปีนี้ยังเร่งตัวขึ้นจากปี 58 ที่ขยายตัวราว 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ การเร่งขึ้นของเม็ดเงินการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ตามกรอบงบประมาณรายจ่ายและอัตราการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 59 ที่สูงขึ้น ประกอบกับ ความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น
แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติมในช่วงเดือน ก.ย.58-ม.ค.59 แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเร่งขึ้นและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 58 ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 58 ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจ และเอื้อต่อการดำเนินนโยบายผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง และ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 1.2% การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.7% และ 4.9% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง (-0.1)-0.9% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.2%