ไทย-ฟิจิ ถกความร่วมมือด้านเกษตรหลัง MoU พร้อมดันไทยเป็น HUB กระจายสินค้าฟิจิในอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นายไอเนีย เซรูอิราตู รมว.เกษตร การพัฒนาชนบทและทะเล และการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติฟิจิว่า ตามที่ไทยและฟิจิ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 แล้วนั้น การพบปะหารือกันในครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ในด้านการพัฒนาการเกษตร การค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศในอนาคต ซึ่งประเด็นสำคัญที่ได้หารือร่วมกันในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านวิชาการเกษตรระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันภายใต้ คณะทำงานร่วมด้านเกษตรของสองประเทศ ซึ่งฝ่ายไทย มีรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ (นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ) เป็นประธานโดยมีการประชุมทุกๆ 2 ปี

สำหรับประเด็นเบื้องต้นที่ทั้งสองฝ่ายสนใจ ได้แก่ ฝ่ายไทยสนใจความร่วมมือด้านวิชาการในเรื่องมะพร้าว เพราะฟิจิเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านการผลิตมะพร้าว เทคโนโลยีการเพาะกล้าพันธุ์และการปลูกมะพร้าวอินทรีย์ รวมถึงระบบการจัดทำพันธุกรรมมะพร้าว ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวและอุตสาหกรรมกรรมแปรรูปมะพร้าวของไทยให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคได้ ขณะที่ฝ่ายฟิจิสนใจเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการด้านเกษตรในเรื่องการจัดการดิน และการปลูกพืช เช่น ข้าว พืชไร่ เป็นต้น รวมถึงการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาล ซึ่งประเทศไทยยินดีพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนและสนับสนุนวิชาการที่ฝ่ายฟิจิเสนอ

ประเด็นที่ 2 คือ การเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยประเทศไทยสามารถเป็นฐานการกระจายสินค้า (HUB) ในการกระจายสินค้าจากฟิจิไปยังประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน ซึ่งมีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน ขณะที่ฟิจิเองเป็นศูนย์กลางของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ดังนั้น หากไทยและฟิจิช่วยผลักดันสินค้าเกษตรของกันและกันไปยังประเทศที่ 3 จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายที่จะมีความร่วมมือระหว่างกัน คือ การสนับสนุนและช่วยเหลือกันในเวทีระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยและฟิจิเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การค้า และมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เหมือนกันในหลายองค์กรทั้ง FAO, WTO, Codex และ ESCAP ดังนั้น การร่วมเป็นพันธมิตร จะเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกันในองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการสนับสนุนเสียงระหว่างกันในเวทีนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดการดำเนินการหลังจากนี้ คณะทำงานของสองประเทศที่ได้มีการแลกเปลี่ยนรายชื่อกันในครั้งนี้ จะเป็นกลไกผลักดันความร่วมมือจะร่วมกันดำเนินการตามข้อตกลงต่างๆ ใน MOU ให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งในเรื่องการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งการประชุมครั้งแรกนั้นประเทศไทยยินดีที่จะรับเป็นเจ้าภาพในการประชุมนัดแรกด้วย

จากนั้นในช่วงบ่ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ของไทยได้เยี่ยมชมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ฟิจิ ตลาดกลางสินค้าเกษตร และบริษัทผู้ผลิตสินค้าเกษตรของฟิจิครั้งนี้มีด้วยกัน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ฟู้ดส์ แปซิฟิก จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการแปรรูปทูน่าและผลิตภัณฑ์ทูน่าอื่นๆ และบริษัท แปซิฟิก ฟีดส์ (Pacific Feeds) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาหารสัตว์ชั้นนำของฟิจิ โดยมีตลาดต่างประเทศสำคัญ เช่น เอเชีย แปซิฟิก อเมริกาเหนือ และยุโรปเหนือ ตลาดกลางสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าเกษตรที่สำคัญของฟิจิ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการตลาด และการแปรรูปสินค้าเกษตรระหว่างกันหน่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ กองวิจัย สังกัด กระทรวงเกษตรฯ ฟิจิ เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาที่ฟิจิและไทยมีความสนใจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตรระหว่างไทยและฟิจิอีกด้วย

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทย-ฟิจิ พบว่า ในช่วงปี พ.ศ.2556 - 2558 ไทยและฟิจิมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร เฉลี่ยปีละ 660 ล้านบาท โดยฟิจิ เป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรกับประเทศไทยอันดับที่ 95 ของไทย มีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรร้อยละ 0.4 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของไทยกับโลก สินค้าส่งออกที่สำคัญประกอบด้วย ข้าว อาหารปรุงแต่ง และน้ำตาล และมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตร เฉลี่ยปีละ 243 ล้านบาท สินค้านำเข้าที่สำคัญประกอบด้วย สินค้าประมงสดและแปรรูป แช่เย็น แช่แข็ง ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ากับฟิจิมาโดยตลอด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ