(เพิ่มเติม1) สภาพัฒน์ คาด GDP ปี 59 โต 2.8-3.8% จากเดิมคาด 3-4% ส่งออก-นำเข้าบวกเล็กน้อย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 12:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย(GDP)ในปี 59 มาที่เติบโตราว 2.8-3.8% หรือมีค่ากลางราว 3.3% ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 3.0-4.0% จากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

ดังนั้น สภาพัฒน์จึงปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 59 ลงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันเป็นสำคัญ โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังเป็นอีกปีที่มีความผันผวน โดย GDP ที่ปรับลดลงดังกล่าวมาจากสมมติฐานดังต่อไปนี้ เศรษฐกิจโลกปีนี้ขยายตัว 3.4% ปริมาณการค้าโลกขยายตัว 3.2% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35.50-36.50 บาท/ดอลลาร์ ราคาน้ำมันดิบ 32-42 ดอลลาร์/บาร์เรล และราคาสินค้าส่งออก -1 ถึง 0% ราคาสินค้านำเข้า -2.5% ถึง -1.5% การเบิกจ่ายภาครัฐอยู่ที่ 93%

"การประมาณการเศรษฐกิจปีนี้มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ตลอดจนปัญหาราคาน้ำมัน ซึ่งจากเดิมคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีนี้ แต่จากที่ดูสถานการณ์แล้ว คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป ซึ่งสาเหตุนี้ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก"นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. กล่าว

อย่างไรก็ตาม GDP ในปีนี้ยังเร่งตัวขึ้นจากปี 58 ที่ขยายตัวราว 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ การเร่งขึ้นของเม็ดเงินการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ตามกรอบงบประมาณรายจ่ายและอัตราการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 59 ที่สูงขึ้น ประกอบกับ ความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น

แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติมในช่วงเดือน ก.ย.58-ม.ค.59 แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเร่งขึ้นและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปี 58 ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 58 ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจ และเอื้อต่อการดำเนินนโยบายผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง และ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 1.2% การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.7% และ 4.9% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง (-0.1)-0.9% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.2%

ส่วนข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญใน 59 ได้แก่ การส่งออกที่ยังมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าในตลาดโลก และค่าเงิน, ความเสี่ยงจากเศษฐกิจและ และประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ, ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะราคายางพารา และพืชพลังงาน รวมทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง

เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ในปี 2559 เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับข้อจำกัดจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ซึ่งเป็นทั้งข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ในขณะที่การผลิตและฐานรายได้ของประชาชนในภาคการเกษตรยังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกก็ฟื้นตัวช้า

ดังนั้นในปี 59 จึงต้องเร่งขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี 58 โดยการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 59 ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการดูแลฐานรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย การดูแลขับเคลื่อนการส่งออกและการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ และยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยมีประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ

1.การดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 59 โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ปี 2559 ที่มีความพร้อมประกวดราคา และจะสามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในปี 59, โครงการตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วน และโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน ภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 2

2. การดำเนินการตามมาตรการที่อยู่ภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว เพื่อดูแลรายได้เกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้แล้วเสร็จตามกำหนด

3.การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว รวมทั้งดำเนินมาตรการเชิงรุกในการชักจูงนักลงทุน ในสาขาเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการที่สำคัญๆ สำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต

4.การดูแลและขับเคลื่อนภาคการส่งออกตามยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ปี 59-64 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนเชื่อมโยงประเทศในกลุ่ม CLMV

5.การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยในคลัสเตอร์การท่องเที่ยวที่สำคัญ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

เลขาธิการ สศช. กล่าวด้วยว่า ในปีนี้รัฐบาลจำเป็นจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่นั้น คงต้องพิจารณาจากสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ เป็นสำคัญ เพราะสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน แต่อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลสามารถดำเนินการให้เม็ดเงินจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจทยอยลงสู่ระบบได้ตามแผนที่วางไว้ ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้สามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 3.3% ได้

"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของงบลงทุนของภาครัฐ, โครงการตำบลละ 5 ล้าน, โครงการกองทุนหมู่บ้าน, สินเชื่อ SMEs ตลอดจนมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทั้งหมดนี้รวมแล้วประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ที่จะทยอยออกในปี 59 รวมกับเงินนอกงบประมาณในโครงการน้ำและถนนอีก 6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นโครงการภาครัฐที่เตรียมหนุนเศรษฐกิจก้อนใหญ่ๆ ถือว่าน่าจะพอ แต่ส่วนจะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาอีกหรือไม่คงต้องดูตามสถานการณ์เศรษฐกิจและความเหมาะสม ซึ่งหากมีเม็ดเงินออกมาตามแผน ก็เชื่อว่าทั้งหมดนี้จะรองรับต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ที่ 3.3%ได้" นายปรเมธี กล่าว

พร้อมประเมินว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทในปี 59 จะอยู่ในกรอบ 35.50-36.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินบาทจะช่วยสนับสนุนรายรับในรูปของเงินบาทให้แก่ผู้ประกอบการส่งออกได้ โดยเงินบาทที่ระดับดังกล่าวถือว่าอ่อนค่าลงจากระดับ 34.29 บาท/ดอลลาร์ ในปี 58 ประมาณ 5%

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนั้น เลขาธิการ สศช. คาดว่า ราคาน้ำมันดิบจะเริ่มกลับมาปรับเพิ่มขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จากเดิมที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันน่าจะค่อยทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แต่เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกพบว่า demand ยังมีความผันผวน และต้องรอการปรับตัว ดังนั้นจึงเชื่อว่าช่วงครึ่งปีหลังจะได้เห็นราคาน้ำมันดิบค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมาราคาน้ำมันที่ต่ำมากทำให้ผู้ผลิตน้ำมันหลายรายเริ่มปิดตัวเนื่องจากไม่คุ้มทุน ซึ่งจะทำให้ supply เริ่มลดลงและจะมีผลให้ราคาน้ำมันค่อยๆ ขยับขึ้น ซึ่งคาดว่าในปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ที่ 32-42 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือเฉลี่ยที่ประมาณ 37 ดอลลาร์/บาร์เรล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ