ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 เพื่อเป็นกลไกที่สำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มั่นคงและเพียงพอ การผลิตและการส่งไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้ง มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการอยู่ในระหว่างปี 2558-2559 ระยะสั้นอยู่ในช่วงปี 2560-2564 ระยะกลางอยู่ในช่วงปี 2565-2574 และในระยะยาวอยู่ในช่วงปี 2575-2579 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนแม่บทที่กระทรวงพลังงานจัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบ SMART GRID 3 ด้าน ได้แก่
ด้านปัญหา เช่น ความน่าเชื่อถือของระบบไฟฟ้า ในด้านความถี่ของการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ ไม่เกิดไฟฟ้าตกหรือดับ และคุณภาพของพลังงานไฟฟ้าในด้านขีดความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าที่มีความถี่และแรงดันคงที่ ความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น ปริมาณเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเหลือน้อยลง และการไหลย้อนกลับทิศทางของพลังงานไฟฟ้า
ด้านแนวโน้มทิศทางการพัฒนาด้านพลังงาน เช่น การพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ การรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาด้านพลังงานอย่างยั่งยืน การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า และการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
ด้านนโยบายของภาครัฐ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการขับเคลื่อนแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวใน 3 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2015) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่ง SMART GRID จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าตามแผนดังกล่าวได้
พล.อ.ณัฐติพล กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งเสริมการจัดทำโครงการ SMART GRID นำร่องในวงเงิน 720 ล้านบาท สำหรับพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความเชื่อถือได้ในระบบไฟฟ้าต่ำสุดในประเทศไทย โดยจะมีการพัฒนาระบบสื่อสาร การพยากรณ์ การเพิ่มคุณภาพและความเชื่อถือได้ โดยเน้นรองรับและพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ระบบบริการจัดการพลังงาน โดยมีเป้าหมายเป็นทั้งการสร้างเมืองต้นแบบที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน การสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า รองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเป็นต้นแบบเศรษฐกิจสีเขียวด้วย