ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาด GDP ปีนี้โต 3%ชี้ความเสี่ยงศก.โลกส่อกระทบส่งออกไม่โตตามคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2559 ยังคงมีภาพลบและบวกปะปนกัน ไม่แตกต่างไปจากทิศทางของเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกมากนัก ทั้งนี้ประเมินในเบื้องต้นว่า แม้จะมีอานิสงส์ต่อเนื่องจากการเร่งผลักดันเม็ดเงินของภาครัฐในหลายๆ ช่องทาง แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2559 อาจชะลอลง เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 2.8% (YoY) ในไตรมาส 4/2558

โดยมีโจทย์ที่สำคัญอยู่ที่การประคองตัวให้สถานการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบโดยตรงน้อยที่สุดจากปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่จะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคการส่งออก และความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศที่จะกดดันภาคการเกษตร/ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ขณะที่ต้องยอมรับว่าทั้งสัญญาณอ่อนแอของภาคการส่งออกและภาคการเกษตร (ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการจ้างงาน และรายได้ของครัวเรือน) อาจมีผลจำกัดการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนด้วยเช่นกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2559 ว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ลากยาวข้ามปีอาจส่งผลทำให้การส่งออกในปี 2559 ไม่ขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี แรงหนุนเพิ่มเติมจากงบกลางปีและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐทยอยประกาศออกมา ตลอดจนการเร่งเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในช่วงครึ่งหลังของปี อาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆ ประคองโมเมนตัมการขยายตัวไว้ได้ต่อเนื่อง

"แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังมีโอกาสขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 ตามที่คาด แต่จะติดตามกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนต่างๆ เหล่านี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

สำหรับในไตรมาส 1/2559 แม้ขณะนี้จะยังไม่มีข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจประกาศออกมามากนัก แต่ภาพที่เปราะบางของภาคการส่งออก และการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากขึ้นของภาคครัวเรือน (ดัชนี KR-ECI คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 46.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน) ก็ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองที่ระมัดระวังในการประเมินสถานการณ์ในไตรมาส 1/2559 โดยสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรก น่าจะประกอบไปด้วย 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.สัญญาณบวกของภาคการส่งออกไทยอาจยังมาล่าช้า 2.รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรอาจยังต้องเผชิญแรงกดดันต่อเนื่อง และ 3.ภาครัฐเร่งเดินหน้าใช้จ่าย และผลักดันมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

"ไตรมาส 1/2559 ประเมินในเบื้องต้นว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 2.8% ในช่วงไตรมาส 4/2558 เนื่องจากสัญญาณที่อ่อนแอของเศรษฐกิจโลกในช่วงต้นปี อาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกมากกว่าที่คาด ขณะที่รายรับจากภาคการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 1/2559 แม้จะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็อาจมีอัตราการเติบโตที่ไม่สูงมากนักเพราะเทียบกับฐานที่สูงในปีก่อน" เอกสารเผยแพร่ระบุ

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวได้ 2.8% ตามที่คาด (ขยับขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ในปี 2557) โดยมีแรงหนุนสำคัญจากภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยลดทอนแรงฉุดจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าและผลผลิตภาคเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ