"สมคิด"สั่งส่วนราชการหั่นงบรายจ่ายเหลือ 2.73 ล้านลบ.ให้เวลา 1 เดือนกลับมาเสนอ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 17:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 ร่วมกับสำนักงบประมาณว่า เป็นการประชุมต่อเนื่องตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่มอบหมายให้ชี้แจงส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและสอดรับกัน

ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณตั้งแต่ปี 2560 ให้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มภารกิจพื้นฐาน การให้บริการภาครัฐตามปกติ 2.กลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์ นโยบายเร่งด่วน แนวทางปฏิรูปภาครัฐ งบประมาณบูรณาการ 25 แผนงานรวมวงเงินงบประมาณ 7.7 แสนล้านบาท 3.กลุ่มภารกิจพื้นที่ แผนพัฒนาท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด 4. กลุ่มบริหารงบกลางรายการเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น หรืองบภัยพิบัติ หรือเร่งด่วน และ 5.กลุ่มบริหารงบรายจ่ายชดเชยเงินกู้และดอกเบี้ย

"ส่วนราชการต่างๆ ต้องจัดทำงบประมาณอย่างรอบคอบ และแต่ละกระทรวงต้องไม่มีความซ้ำซ้อนกัน เบื้องต้นขณะนี้มีหน่วยงานต่างๆ เสนอของบประมาณปี 2560 ประมาณ 3.313 ล้านล้านบาท ซึ่งเกินกรอบงบประมาณที่ตั้งไว้ที่ 2.733 ล้านล้านบาท จึงได้สั่งให้หน่วยงานต่างๆ กลับไปพิจารณาตัดงบของหน่วยงานตัวเอง ซึ่งมีเวลาอีก 1 เดือนในการหารือกันและกลับมาเสนอสำนักงบประมาณอีกครั้ง" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้กำหนดเพดานขอวงเงินงบประมาณรายจ่ายให้ส่วนราชการที่ 4.2 ล้านล้านบาท โดยมีการขอวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท แต่จะต้องตัดออกให้เหลือ 2.73 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนราชการจะต้องไปทบทวนงบประมาณรายจ่ายให้เป็นไปตามแผนการจัดทำงบประมาณ 5 กลุ่ม ในกรณีที่ต้องการจัดสรรงบยุทธศาสตร์เพิ่มเติมสามารถขอเพิ่มได้ 5% แต่ให้ลดจากงบภารกิจพื้นฐาน ไม่ให้กระทบกับกรอบวงเงินที่ขอมา รวมถึงจะต้องมีการทำเป้าหมาย ตัวชี้วัด แผนบูรณาการใช้งบประมาณมาพิจารณาประกอบการงบประมาณด้วย

ผอ.สำนักงบประมาณ กล่าวว่า นายสมคิด ได้สั่งการให้สำนักงบประมาณไปจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายระยะยาว 20 ปี และระยะปานกลาง 5-10 ปี โดยจะเป็นการคาดการณ์งบประมาณรายรับ รายจ่ายล่วงหน้า ซึ่งจะต้องมีการหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง เพื่อให้ภาครัฐสามารถวางแผนการลงทุนล่วงหน้า ให้มีทิศทางการใช้งบประมาณลงทุนพัฒนาประเทศในระยะยาวที่ชัดเจนขึ้น โดยตัวแปรที่จะนำมาพิจารณาการจัดทำงบ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนงานของกระทรวงหลักๆ เบื้องต้นคาดว่าจะมีการทำงบประมาณแบบสมดุลได้ภายในไม่เกิน 10 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ