"อยากให้รัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อรากหญ้าด้วย ถ้ารัฐบาลยืนยันจะเข้าร่วม และเจรจาลดภาษีปศุสัตว์ จะส่งผลกระทบต่อไทยแบบเดียวกับที่เจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย หรือเอฟทีเอไทย-นิวซีแลนด์" นายสุรชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มปศุสัตว์สนับสนุนรัฐบาลในการเข้าร่วมการเจรจาการเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซพ) แทน TPP เพราะหากการเจรจาสำเร็จจะทำให้สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมกลุ่มเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรรวมกว่า 3,700 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของประชากรโลก
นอกจากนี้ยังต้องการให้ภาครัฐเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษา ผลกระทบ ความได้เปรียบเสียเปรียบจากการเข้าร่วมทีพีพี ที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์ศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดด้วย
ด้าน น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯจะนำข้อคัดค้านของกลุ่มปศุสัตว์ หารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้ และจะจัดทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศในทุกเดือน ซึ่งทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบสามารถนำเสนอข้อมูลเข้ามาได้ หลังจากนั้นจะสรุปและเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเร็วที่สุด
"กรมฯไม่สามารถสรุปและตัดสินได้ว่าจะเข้าร่วมเจรจาทีพีพีหรือไม่ ต้องรอรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ก่อนนำมาจัดทำข้อสรุป และแนวทางเยียวยาผลกระทบ เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ส่วนผลการศึกษาเกี่ยวกับการเข้าร่วมทีพีพี ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการขั้นสุดท้าย หากเสร็จสิ้นแล้วจะเปิดเผยต่อสาธารณชนได้แน่นอน" น.ส.สุนันทา กล่าว