EXIM BANK เปิดตัว"สินเชื่อส่งออกทวีค่า+บริการรับซื้อตั๋วส่งออกทวีค่า" ตั้งเป้า 1.5 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 17, 2016 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมนัส แจ่มเวหา ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK พร้อมร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่จะผลักดันให้การส่งออกขยายตัวได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ร้อยละ 5 โดยเสนอจัด Promotion พิเศษ "EXIM จัดหนัก ทวีค่าส่งออก" ตลอดทั้งปี เริ่มต้นจาก 2 บริการที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกมีเงินทุนหมุนเวียนแถมประกันการส่งออกในต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่าปกติ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยลดพิเศษเหลือร้อยละ 3.99 ในปีแรก ประกอบด้วย สินเชื่อส่งออกทวีค่า และบริการรับซื้อตั๋วส่งออกทวีค่า

สำหรับ "สินเชื่อส่งออกทวีค่า" เป็นสินเชื่อหมุนเวียนช่วงก่อนและหลังการส่งออกสำหรับ SMEs แถมการชดเชยความเสียหายจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยได้รับการยกเว้นค่าวิเคราะห์ผู้ซื้อและค่าเบี้ยประกัน วงเงินหมุนเวียนสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย หรือเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบเท่า วงเงินรับประกันสูงสุด 5 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนลูกค้ารายใหม่และลูกค้าปัจจุบันที่ต้องการบุกตลาดใหม่หรือส่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อย่างมีสภาพคล่องและมั่นใจได้ว่าส่งออกแล้วได้เงินแน่นอน

ส่วน "บริการรับซื้อตั๋วส่งออกทวีค่า" เป็นบริการสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ SMEs ภายหลังจากที่มีการส่งออกแล้ว วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ผู้กู้ไม่ต้องมีหลักประกัน ใช้เพียงบุคคลค้ำประกันเท่านั้น

ประธานกรรมการ EXIM BANK เปิดเผยว่า EXIM BANK ตั้งเป้าหมายที่จะอนุมัติวงเงินใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้บริการสินเชื่อส่งออกทวีค่าจำนวน 10,000 ล้านบาท และบริการรับซื้อตั๋วส่งออกทวีค่า จำนวน 5,000 ล้านบาท เป้าหมายวงเงินอนุมัติสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาทดังกล่าว คาดว่าจะมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการส่งออกเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่า 1,668 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังมีเงินทุนไม่เพียงพอ และไม่มั่นใจที่จะเริ่มต้นธุรกิจส่งออกหรือส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

"ตลอดปี 2559 EXIM BANK จะพัฒนาแพ็กเกจทางการเงินใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศของ SMEs ไทย การวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างแบรนด์ที่แตกต่าง การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตหรือขยายฐานการลงทุนไปต่างประเทศ การพัฒนาพลังงานทดแทน โลจิสติกส์ เขตเศรษฐกิจพิเศษ การสนับสนุนการส่งออกและบริการของไทยโดยให้แพ็กเกจทางการเงินแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศ ไปจนถึงการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว" นายมนัส กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ