ทั้งนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง, ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศจีนซึ่งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย รวมทั้งการเร่งการใช้จ่ายในช่วงเดือนก่อนหน้า และความกังวลต่อการชะลอตัวของกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งจากความกังวลดังกล่าว ผู้ประกอบการจึงให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศ และการผลักดันให้ผู้ประกอบการขยายตลาดการค้าการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศในปี 2559 อย่งไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังคงเห็นว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ส่งผลดีต่อต้นทุนประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.8 โดยปรับตัวลดลงจาก 102.7 ในเดือนธ.ค.58 โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการใน 3 เดือนข้างหน้า ได้แก่ ความกังวลต่อตลาดการเงินโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ และปัญหาเงินทุนหมุนเวียนในกิจการโดยเฉพาะ SMEs อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีฯ ยังมีค่าเกิน 100 แสดงว่าผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินกิจการในอีก 3 เดือนข้างหน้า
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนม.ค. คือ ต้องการให้ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการลงทุนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการบริโภคในประเทศผ่านนโยบายภาครัฐเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย พร้อมยกระดับการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก รวมถึงมีการส่งเสริมผู้ประกอบการขยายตลาดการค้าและการลงทุนไปยังเมืองสำคัญๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทย
ทั้งนี้ ส.อ.ท.ยังคงเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ที่ 3-3.5% ตามที่กกร.เคยได้ประมาณการไว้ ขณะที่การส่งออกยังคงมองเป้าหมายที่ 2% เนื่องจากมองว่า เศรษฐกิจโลกยังชะลอ ส่งผลให้หลายประเทศลดการนำเข้าลง ซื้อน้อยลงดังนั้นหากรัฐบาลจะเร่งผลักดันให้การส่งออกขยายตัวได้ 5% จะต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆมากขึ้น รวมทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นความต้องการของตลาด นอกจากนี้ยังต้องเร่งเจาะตลาดเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) "แต่ทุกประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ก็ปรับลดคาดการณ์ GDP ของตัวเองลงเช่นกัน"นายสุพันธุ์ กล่าว
ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ยอมรับว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้นค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งยังเป็นไปได้ในทิศทางเดียวกับสกุลอื่นๆในภูมิภาค แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทมีความผันผวนรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการกังวลใจ แต่ทั้งนี้ มองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเฉพาะสกุลเงินบาทเท่านั้น ยังสอดคล้องกับสกุลเงินเยนและค่าเงินหยวน
อย่างไรก็ตาม จะต้องจับตาและติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอีกระยะว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากเห็นว่าค่าเงินบาทแข็งค่ามากก็อาจมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อใช้นโยบายดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงิน