ดังนั้นรัฐบาลจึงเห็นว่าควรนำรายได้ดังกล่าว มาใช้ในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งแก่ประเทศ รวมทั้งการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จึงได้นำเสนอต่อที่ประชุม สนช.โดยมีการจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในวงเงินไม่เกิน 56,000 ล้านบาท โดยจะนำไปใช้ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมอีก 56,000 ล้านบาทนี้ ประกอบด้วย ส่วนแรก 47,661 ล้านบาท จะนำไปใช้ในการพัฒนาตามแนวทางการปฏิรูป จำนวน 32,661 ล้านบาท และอีก 15,000 ล้านบาท จะนำไปจัดสรรตามแผนงานเศรษฐกิจดิจิทัล ส่วนที่สองอีก 8,338 ล้านบาท จะนำไปใช้เพื่อการชดเชยเงินคงคลัง
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบริหารของรัฐบาลจำเป็นต้องทำให้เกิดความสมดุลสำหรับเป้าหมายเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาว ตลอดจนให้สอดคล้องกับความยั่งยืนทางการคลัง ดังนั้นรัฐบาลได้จึงกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และโครงการต่างๆ ที่ครอบคลุมในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และวางรากฐานเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว
"พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นกลไกหนึ่งที่จะให้สามารถบรรลุตามเจตนารมย์ สนับสนุนการปฏิรูป และยังสามารถหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในประเทศในยามที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอยในขณะนี้" นายสมคิด กล่าว