AMRO เป็นหน่วยงานอิสระที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างสมาคมประชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี (อาเซียน +3) โดยมีหน้าที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจประเมินแนวโน้ม ตลอดจนความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจการเงิน และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ประเทศสมาชิก รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกป้องกันวิกฤติเมื่อประเทศสมาชิกประสบปัญหาวิกฤตดุลการชำระเงินหรือปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น ซึ่งการปรับสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศจะช่วยให้การดำเนินการดังกล่าวของ AMRO มีประสิทธิภาพและคล่องตัวยิ่งขึ้น
การปรับสถานะของ AMRO ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศนี้เป็นไปตามความตกลงที่ ผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศสมาชิก+3 ได้ลงนาม เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ณ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันครบตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่งผลให้ AMRO มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 2559 เป็นต้นมา
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า แม้ว่า AMRO จะได้เริ่มดำเนินงานในรูปบริษัทจำกัดมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 แต่จากภารกิจที่เพิ่มขึ้นข้างต้น สมาชิกอาเซียน+3 ตระหนักถึงความสำคัญของ AMRO ในการทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเฝ้าระวังทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาค จึงได้เร่งรัดการดำเนินการยกระดับ AMRO ให้เป็นองค์การระหว่างประเทศโดยเร็วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของ AMRO โดยได้จัดทำความตกลงจัดตั้งสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO Agreement) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงฯ เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 และความตกลงดังกล่าวได้มีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2559 จึงทำให้ปัจจุบัน AMRO เปลี่ยนแปลงสถานะจากบริษัทจำกัดมาเป็นองค์การระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ AMRO นี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยเนื่องจาก AMRO เป็นองค์การระหว่างประเทศองค์การแรกของภูมิภาคที่มีหน้าที่หลักในการเฝ้าระวัง ประเมิน และรายงานต่อสมาชิกเกี่ยวกับสถานะทางเศรษฐกิจมหภาคและความมั่นคงทางการเงินของสมาชิก และระบุความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมหภาคและการเงินและความเปราะบางในภูมิภาค รวมทั้งเสนอแนะนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศไทยในฐานะสมาชิกของ AMRO สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาประเมินและเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจได้ต่อไป