ขณะที่การจับสลากในโครงการดังกล่าวที่มีความล่าช้าจากแผนเดิมที่ต้องจับสลากในเดือนธ.ค.58 นั้น ทำให้อาจจะต้องขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ของโครงการดังกล่าวออกไปเบื้องต้นเป็นเดือนธ.ค.59 จากเดิมที่กำหนด COD ภายในก.ย.59
"โครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯเราได้สั่งชะลอออกไป ต้องรอมติกพช.ในเดือนมีนาคมนี้ ว่าตามมาตรา 44 เรื่องการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองนั้นในโครงการใดบ้าง ต้องรอมติกพช.หลังจากนั้นจึงจะเดินหน้า เดิมทีเราจะจับสลากในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ก็ต้องรอมติกพช.ที่จะออกมาแล้วดูอีกที เร็วที่สุดคงภายในเดือนมีนาคม...การ COD เบื้องต้นก็จะขยับไปอีก 3 เดือนถ้าจับสลากได้ในเดือนมีนาคม"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานราชการหรือสหกรณ์ภาคการเกษตรรายใด ยื่นขอถอนตัวจากโครงการดังกล่าว ขณะเดียวกันหากกพช.มีมติให้ข้อยกเว้นเรื่องกฎหมายผังเมืองมีผลบังคับย้อนหลัง ก็อาจจะมีหน่วยงานที่ผ่านคุณสมบัติเพื่อคัดเลือกเข้าจับสลากเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย จากเดิมที่ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติโครงการดังกล่าวไปแล้วเมื่อกลางเดือนธ.ค.58 มีทั้งสิ้น 219 ราย จำนวนรวม 1,028.67 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตามยืนยันว่าผู้ที่จะได้รับสิทธิเข้ามาจับสลากดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เงื่อนไขทั้งในส่วนของพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) และการใช้พื้นที่ราชพัสดุ ขณะที่เบื้องต้นรับทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางที่จะปลดล็อกเรื่องต่างๆแล้ว แต่หากเป็นไปตามกฎหมายเดิมก็คาดว่าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ซึ่งมีการขายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกิน 5 เมกะวัตต์/โครงการนั้น มีมูลค่าไม่ถึง 1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ระดับรัฐมนตรีสามารถอนุญาตได้ แต่คาดว่าขั้นตอนการดำเนินงานคงมีความล่าช้า ก่อนหน้านี้ กกพ.ได้ออกออกประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ โดยการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวมีปริมาณรวมไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ แบ่งการรับซื้อเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจำนวน 600 เมกะวัตต์ มีกำหนดการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ไม่เกินวันที่ 30 ก.ย.59 ส่วนระยะที่สอง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.61
นายวีระพล กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันในวันนี้ยังเป็นวันแรกที่กกพ.เปิดให้ยื่นเสนอขอขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff (FiT) ด้วยวิธีการคัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา สำหรับเชื้อเพลิงประเภทก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวนไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดให้ยื่นข้อเสนอจนถึงวันที่ 29 ก.พ. และจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนเม.ย. ซึ่งในช่วงที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เปิดรับ ตรวจสอบจุดเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าพบว่ามีผู้สนใจมาสอบถามมากถึง 23-24 ราย
ส่วนการเปิดให้ยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทชีวมวล จำนวนไม่เกิน 36 เมกะวัตต์ สำหรับพื้นที่เดียวกันนี้จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-21 มิ.ย.และจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกภายในเดือนส.ค.นี้
"เมื่อโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯมีความชัดเจน ก็จะทำขนานไปกับ FiT Bidding ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะรู้ว่าจะมีสายส่งเหลืออยู่เท่าไหร่ หลังจากนั้นก็จะสามารถประการรับซื้อ FiT Bidding รอบใหญ่ทั่วประเทศได้คงจะเกิดขึ้นได้หลังเดือนสิงหาคมนี้"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบ Adder เดิม (โซลาร์ฟาร์มค้างท่อ) นั้นที่มีกำหนด COD ภายในสิ้นปี 58 นั้น ล่าสุดมีผู้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วกว่า 70 โครงการ รวมกว่า 400 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 171 ราย จำนวนรวม 984 เมกะวัตต์ ซึ่งที่เหลือที่ไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในกำหนดก็ต้องถูกตัดสิทธิใบอนุญาตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แต่ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้เป็นรายกรณี ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้ยื่นขออุทธรณ์มาจำนวนหนึ่งแล้ว