"ภาพรวมที่เราเคยประเมินไว้เมื่อปลายปีที่แล้วคาดว่าเอฟทีในเดือนพฤษภาคมจะสูงขึ้น 1-3 สตางค์/หน่วย จากเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ราคาก๊าซฯยังไม่สะท้อนราคาน้ำมันที่ลดลงมากขณะนี้ นโยบายของภาครัฐที่มีกลุ่มพลังงานทดแทนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งปลายปีที่แล้วมีโซลาร์เข้าระบบ 300-400 เมกะวัตต์ ซี่งเป็นกลุ่มที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูง ก็ทำให้ค่าไฟฟ้าก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น แต่เราก็จะคุยและดูแลเพื่อไม่ให้สูงขึ้นในเดือนพฤษภาคม"นายวีระพล กล่าว
นายวีระพล กล่าวว่า สำหรับการที่ผู้ผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติได้แจ้งแผนดำเนินการซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาในสหภาพเมียนมาร์ ได้เลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงเป็นวันที่ 25-28 ก.พ.59 จากเดิมวันที่ 20-23 ก.พ.59 นั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อค่าเอฟที เพราะยังคงเป็นช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อค่าเอฟที จากเดิมที่การหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯในช่วงเวลาเดิมจะมีผลต่อค่าเอฟที -0.07 สตางค์/หน่วย ซึ่งผลจากค่าเอฟทีดังกล่าวจะใช้คำนวณค่าเอฟทีที่จะเรียกเก็บในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.59 นี้ด้วย
ขณะเดียวกัน กกพ.ยังอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการลดความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response:DR) จากภาคเอกชน เพื่อให้เป็นมาตรการถาวร โดยได้จ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ทำการศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 59
ด้านนางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า กกพ.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการปรับสูตรการคำนวณค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติใหม่ หลังจากไม่ได้ปรับปรุงสูตรการคำนวณเดิมมาเป็นเวลานาน ขณะที่ปัจจุบันมีการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯเส้นใหม่ และการมีการขยายขีดความสามารถของท่อเพิ่มเติมด้วย ทำให้ต้องมีการพิจารณาปรับสูตรใหม่ ซึ่งคาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ขณะที่ปัจจุบันค่าผ่านท่อก๊าซฯจะอยู่ที่ราว 21 บาท/ล้านบีทียู