(เพิ่มเติม1) PWC เผยไทยติดอันดับ 5 ตลาดน่าลงทุนในสายตา CEO อาเซียน แนะเร่งแก้จุดอ่อนสู้อินโดฯ-เวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2016 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

PWC เผยไทยติดอันดับ 5 ตลาดน่าลงทุนในสายตาผู้บริหารระดับสูง (CEO) ของภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน จากจุดแข็งด้านแรงงานมีทักษะฝีมือ การใช้จ่ายของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งมีข้อได้เปรียบด้านคมนาคม และการสื่อสาร ขณะที่การท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่า 5 อันดับตลาดน่าลงทุนในปีนี้นอกเหนือจากไทย คือ อันดับที่ 1 ได้แก่ จีน (49%) ซึ่งแม้ปีนี้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มไม่สดใสนัก แต่จีนถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอาเซียน อันดับที่ 2 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (42%) โดยดูจากกำลังซื้อและตัวเลขจ้างงานที่ฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนอินโดนีเซีย และเวียดนาม ติดอันดับที่ 3 (19% เท่ากัน) อย่างไม่น่าแปลกใจ เพราะทั้งมูลค่าการลงทุนและอัตราการขยายตัวของภาคธุรกิจของสองประเทศ ประกอบกับอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำและทรัพยากรธรรมชาติที่ยังมีอยู่มาก ทำให้โอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศยังคงมีสูง ตามด้วย อันดับที่ 4 ได้แก่ อินเดีย (13%) ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ส่วนอันดับที่ 5 คือ ไทย

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยติด 1 ใน 5 ตลาดที่น่าลงทุนในสายตาซีอีโออาเซียนในปีนี้ ที่ระดับ 12% โดยมีจุดแข็งสำคัญด้านแรงงานที่มีทักษะฝีมือเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และการใช้จ่ายของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ

ผนวกกับไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีข้อได้เปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะการคมนาคม การติดต่อสื่อสาร และการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ดี ไทยก็ไม่ควรชะล่าใจ โดยยังมีจุดอ่อนบางเรื่องที่ต้องปรับปรุง เช่น ภาคการผลิตในบางจุดยังมีประสิทธิภาพต่ำ ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้น การปรับปรุงคุณภาพการศึกษา การกระจุกตัวของพื้นที่อุตสาหกรรมที่อาจทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ภาระหนี้สินของคนในชนบทและผู้มีรายได้น้อย และการอพยพของแรงงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของภาคเอกชน โดยซีอีโออาเซียนมองว่า ภารกิจสำคัญ 3 อันดับแรกที่ต้องการการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ได้แก่ 1. การสร้างแรงงานที่มีทักษะ เพียงพอต่อความต้องการของตลาด (71%) ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน 2. โครงสร้างพื้นฐานเชิงทางกายภาพและดิจิทัล (41%) และ 3. แรงงานที่มีความหลากหลาย (38%)

“ไทยยังน่าลงทุนในสายตาเพื่อนบ้านจากจุดแข็งหลายประการข้างต้น แต่สิ่งที่เราละเลยไม่ได้ คือ ต้องแก้ไขจุดอ่อนหลายๆ ด้านอย่างเร่งด่วน เพื่อไล่ตามอินโดนีเซียและเวียดนามให้ทัน" นายศิระ กล่าว

นายศิระ กล่าวว่า ไทยมีโอกาสที่อันดับน่าลงทุนจะขยับขึ้นแซงอินโดนิเซียและเวียดนามได้ เพราะผลสำรวจนี้ทำเมื่อเดือนกันยายน 2558 แต่ความชัดเจนเรื่องระบบรถไฟฟ้า รถไฟรางคู่ ไฮสปีดเทรน เกิดหลังจากนั้น ถ้ามีการสำรวจอีกทีอันดับของไทยอาจจะสูงขึ้น

สำหรับธุรกิจที่นักลงทุนให้ความสนใจจะลงทุนในไทย อันดับ 1 ยังคงเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค อาจจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยัง AEC ด้วยระบบคมนาคมที่สะดวกสบายมากขึ้น แต่เดิมอาจจะแค่ส่งมาประเทศไทย หรือการลงทุนในกิจการที่มีความเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมของไทย หรือเกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย

ส่วนปัจจัยความไม่มั่นคงทางการเมืองนั้น นายศิระ กล่าวว่า ผลการสำรวจให้น้ำหนักไปที่การเมืองระหว่างประเทศ เช่น รัสเซีย ปัญหากลุ่ม IS เป็นส่วนใหญ่ ส่วนเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์เป็นแค่จิตวิทยาในการลงทุนระยะสั้น ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ผลสำรวจไม่ได้ระบุถึงอย่างชัดเจน

เมื่อถามถึงประเทศน่าลงทุนในสายตาซีอีโอโลก 10 อันดับแรก หลักๆคือประเทศในกลุ่ม BRICS หรือ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (Emerging Market) ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ส่วนประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ