"ต้องยอมรับความจริงว่าแม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะตกต่ำ หลายประเทศกำลังประสบปัญหา รวมถึงประเทศไทย แต่การที่สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานข้อมูลดังกล่าว ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ปั่นป่วน ยังมีประเทศจำนวนมากที่ย่ำแย่กว่าเรา แต่เรามีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีความมั่นคงแข็งแรง และต่างประเทศยังเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว และพอใจการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่สามารถรักษาระดับการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อได้ดี ข้อมูลจากธนาคารโลกเมื่อปี 57 ชี้ว่าอัตราว่างงานในไทยอยู่ที่เพียง 0.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
รวมทั้งชื่นชมความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชนที่มีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ดูได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล การบริโภคเริ่มฟื้นตัว รายได้จากการท่องเที่ยวสูงขึ้น การลงทุนของเอกชนเพิ่มขึ้น มีตัวเลขการขอเปิดโรงงานแล้วหลายพันแห่ง ส่งผลให้เกิดการจ้างงานนับแสนคน
อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ทั้งปัญหาค่าครองชีพ การส่งออก รายได้ของเกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs ฯลฯ
"ท่านนายกฯ กล่าวว่า ความสุขอาจจะเป็นสิ่งที่วัดยาก แต่ต้องขอบคุณสำนักข่าวต่างประเทศที่มองเห็นข้อดีของไทย ซึ่งอาจจะไม่ใช่เพียงเรื่องของปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังอาจรวมไปถึงความมั่นคงปลอดภัยในการดำเนินชีวิต การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ความอบอุ่นในครอบครัว ความภูมิใจในความเป็นไทย ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
สำหรับ 15 ประเทศที่มีความสุขเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดตามลำดับ คือ 1.ไทย 2.สวิตเซอร์แลนด์ 3.ญี่ปุ่น 4.เกาหลีใต้ 5.ไต้หวัน 6.เดนมาร์ก 7.จีน 8.สหรัฐอเมริกา 9.นอร์เวย์ 10.สหราชอาณาจักร 11.ออสเตรีย 12.นิวซีแลนด์ 13.ไอซ์แลนด์ 14.มาเลเซีย และ 15.เยอรมนี