โดยในส่วนของปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (NOMINEE) นั้น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจท่องเที่ยวของไทย กระทรวงฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว โดยได้มอบหมายให้กรมการท่องเที่ยวดำเนินการในหลาย 6 ข้อสำคัญซึ่งดำเนินการระหว่างช่วงปี 2558 ต่อเนื่องถึงปี 2559 ได้แก่ 1.แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองและตรวจสอบคุณสมบัตินิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง ตามกรอบความร่วมมือ 4 องค์กร คือกรมการท่องเที่ยว กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2558 รวม 7 เดือน มีการประชุมกลั่นกรองพิจารณาบริษัทไปแล้วทั้งหมด 245 บริษัท มีผลการตั้งข้อสังเกตุที่น่าสนใจและต้องติดตามต่อคือ มีแนวโน้มเป็นตัวแทนอำพราง จำนวน 22 บริษัท
2. ร่วมกับกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ดำเนินการออกตรวจปฏิบัติตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 จำนวนทั้งสิ้น 133 ครั้ง โดยมีการตรวจสอบผู้ประกอบอาชีพเป็นมัคคุเทศก์ ในระหว่างเดือน มิถุนายน 2558 – เดือน มกราคม 2559 จำนวน 1,439 ราย พบผู้ประกอบอาชีพเป็นมัคคุเทศก์โดยไม่ได้รับอนุญาต (ไกด์เถื่อน) จำนวน 113 ราย(ส่วนกลาง จำนวน 88 ราย เป็นชาวต่างชาติ 46 ราย และคนไทย 42 ราย ส่วนภูมิภาค จำนวน 25 ราย)
"เรามีการตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจำนวน 785 ราย พบผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวซึ่งกระทำผิดกฎหมาย จำนวน 39 ราย และนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลาง ได้มีการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่กระทำผิดกฎหมาย โดยสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว จำนวน 19 ราย สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ จำนวน 6 ราย" นางกอบกาญจน์ กล่าว
3.ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 โดยในปี 2558 ลงพื้นที่ต่างๆ จำนวน 10 ครั้ง ทั้งสิ้น 79 ราย พบผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่เข้าข่ายประกอบธุรกิจนำเที่ยวใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee) จำนวน 6 ราย และในปี 2559 ก็มีแผนในการตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือน
4. จัดทำบันทึกข้อตกลงการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน โดย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558
5. ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามมาตรการ 10 กลุ่มต้องห้าม ตามนโยบายสร้างความเชื่อมั่นและรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว
6. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาทัวร์จีนราคาต่ำกว่าทุนอย่างไม่มีเหตุผล เพื่อยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนและการแก้ปัญหาการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง(NOMINEE) ซี่งเรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการ
ส่วนการจัดการเกี่ยวกับรถเช่าเพื่อการท่องเที่ยวนั้น กรมการท่องเที่ยว ร่วมกับสมาคมรถเช่า และ กรมการขนส่งทางบกกระทรวงคมนาคมจะร่วมกันทำงานในการร่างกฎกระทรวงเพื่อให้ครอบคลุมกำกับดูแลผู้ประกอบการธุรกิจรถเช่าเพื่อการท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึงและให้สอดคล้องกับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่นิยมใข้รถยนต์เพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้นโดยกรอบของการทำงานคาดว่าจะเร่งให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน
การป้องกัน และแก้ไขปัญหาการจัดกิจกรรมปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งจะต้องร่วมกันทำให้คนที่รักและดูแลช้างเพื่อการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานช้างไทยและมีความปลอดภัยในการจัดกิจกรรมต่างๆแก่นักท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวจะจัดการอบรมสัมมนาการป้องกัน แก้ไขปัญหาการจัดกิจกรรมปางช้างเพื่อการท่องเที่ยวจำนวน 3 ครั้งในแต่ละภูมิภาค ครั้งแรกจัดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 ที่กรุงเทพฯ, ครั้งที่ 2 จะจัดวันที่ 11 มีนาคม 2559 ณ จังหวัด เชียงใหม่ และครั้งที่ 3 วันที่ 29 มีนาคม 2559 ณ จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยมีผู้ประกอบการและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ในแต่ละพื้นที่มาร่วมรับรู้การประกอบกิจกรรมปางช้าง ให้มีความเข้าใจในธรรมชาติของช้าง การบริการและการดูแลช้าง เพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี จะสามารถควบคุมดูแลช้างให้เชื่อฟังคำสั่งได้ดี ซึ่งจะส่งผลให้การบริการมีมาตรฐานและความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย นอกจากนี้เราจะร่วมกันนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับช้างในมุมมต่างๆ ของวิถีช้างไทย เพิ่อสร้างความเข้าใจประทับใจในช้างไทย ปัจจุบันเรามีป้างช้าง กว่า 150 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ
สำหรับผลการดำเนินงานด้านกีฬาที่สำคัญในขณะนี้ นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรอง ตาม พ.ร.บ.กีฬา พ.ศ.2558 โดยดำเนินการเสร็จแล้ว 9 ฉบับและอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 20 ฉบับ ส่วนความคืบหน้าของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาตินั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเลือกกรรมการบริหารกองทุนฯ ประเภทผู้แทนสามคมกีฬา ที่ใช้ คำว่า แห่งประเทศไทย และ ผู้แทนสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด ซึ่งคาดว่าจะพิจารณภายในเดือนมีนาคมนี้
ส่วนความคืบหน้าเรื่องจัดตั้งมหาวิทยาลัยกีฬา โดยการปรับเปลี่ยนสถานะสถาบันการพลศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ สถาบันการพลศึกษาได้ดำเนินการ 2 แนวทางควบคู่กัน คือ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ.......คณะกรรมการที่รับผิดชอบร่าง พ.ร.บ.ได้ดำเนินการยกร่างเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการตรวจสอบ การเชื่อมโยงของมาตราต่างๆ เพื่อให้เกิดความถูกต้องสมบูรณ์ คาดว่าร่างพรบ.มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ พ.ศ........ จะแล้วเสร็จภายในเดือน มีนาคม 2559 โดยสถาบันจะนำเสนอต่อสภาสถาบันการพลศึกษา ในคราวประชุมเดือนพฤษภาคม 2559 และนำเสนอกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในเดือนมิถุนายน 2559 เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป และโครงสร้างมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ขณะนี้ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างการประชุมคณะกรรมการพิจารณา สรุปคาดจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2559
รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวและรายได้จากการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวเติบโตตามเป้าหมาย ข้อมูล ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2559 มีรายได้จากนักท่องเที่ยว 274,763.77 ล้านบาท ขยายตัว 18.57% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยนักท่องเที่ยวในท่าอากาศยานหลักขยายตัว 31.39% จากจำนวนนักท่องเที่ยวในท่าอากาศยานหลัก 5 แห่ง โดยท่าอากาศยานที่นักท่องเที่ยวขยายตัวสูงสุดคือ ท่าอากาศยานดอนเมือง 87.83% รองลงมาได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ภูเก็ต สุวรรณภูมิ และหาดใหญ่