ทั้งนี้ กรณีการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา ประเทศสหภาพเมียนมาร์ ระหว่างวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ 2559 เพื่อเชื่อมต่อแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติบาดัมยาร์ (Badamyar) ซึ่งเป็นหลุมผลิตก๊าซธรรมชาติใหม่ของแหล่งยาดานาทำให้ก๊าซธรรมชาติที่ส่งมาจากประเทศสหภาพเมียนมาร์ หายไปจากระบบวันละประมาณ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคขนส่ง (NGV) และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ กฟผ. และปตท. ได้ร่วมกันบริหารจัดการให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศน้อยที่สุด
โดยในส่วนของภาคขนส่ง อุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจากสหภาพเมียนมาประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปตท. จะดำเนินการเก็บก๊าซธรรมชาติไว้ในท่อ (Pack Line) เพื่อให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติมีพลังงานใช้อย่างต่อเนื่อง สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในฝั่งภาคตะวันตก ได้แก่ โรงไฟฟ้าบริษัท ราชบุรี จำกัด โรงไฟฟ้าบริษัทราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด โรงไฟฟ้าบริษัทไตรเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครใต้ชุดที่ 3 ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่ต้องหยุดเดินเครื่องแล้วไปผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าอื่นแทน และมีบางส่วนที่ต้องเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเพื่อเดินเครื่องรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าตามความจำเป็น
กฟผ. ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ทุกด้าน ตั้งแต่ ด้านระบบผลิต ให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือชุดที่ 1 และ 2 เดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันออก ประสานงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้เดินเครื่องเต็มความสามารถ และทดสอบโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ได้รับผลกระทบให้มีความพร้อมเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลแทน
ด้านเชื้อเพลิง สำรองน้ำมันให้เพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำมันเดินเครื่องแทนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่หยุดจ่าย โดยคาดว่าจะใช้น้ำมันเตาประมาณ 34.8 ล้านลิตร และน้ำมันดีเซลประมาณ 8.1 ล้านลิตร นอกจากนี้ได้มีการประสานงานกับผู้จัดส่งน้ำมันให้มีการจัดส่งน้ำมันเสริมปริมาณสำรองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับความเสี่ยงหากการทำงานของผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติล่าช้าออกไปจากแผนได้
ด้านระบบส่ง ได้มีการตรวจสอบสายส่งและอุปกรณ์สำคัญให้พร้อมใช้งานก่อนเริ่มหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ และหยุดการบำรุงรักษาระบบส่งในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กฟผ. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้การรับมือเป็นไปตามแผนที่เตรียมไว้ร่วมกันของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้การหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ ทั้งฝั่งตะวันตก (เมียนมาร์) ฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area : JDA) จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2559 มีมากกว่า 15 ครั้ง ซึ่งการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจะมีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นระยะยาวเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการกระจายการใช้เชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าอย่างเหมาะสมโดยลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันสูงมากถึงประมาณร้อยละ 70
“กฟผ. ขอให้ความมั่นใจว่า ด้วยการวางแผนและเตรียมการรับมือร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจทำให้การหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติฝั่งตะวันตกจากสหภาพเมียนมาร์ ระหว่าง 25 – 28 กุมภาพันธ์ 2559 นี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชน ซึ่ง กฟผ. ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้า หรือใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในช่วงเวลาดังกล่าวอีกทางหนึ่งด้วย" รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. กล่าว