พร้อมกันนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้เสนอขออนุมัติงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินการตามแผนข้าวครบวงจรวงเงินรวมประมาณ 10,080 ล้านบาท แบ่งเป็น มาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้เงินจากงบกลางปี 2559 จำนวน 3,319 ล้านบาท และกระทรวงพาณิชย์ จะใช้งบประมาณ 6,674 ล้านบาท โดยจะขอจัดสรรงบประมาณในปี 2560
สำหรับมาตรการของกระทรวงเกษตรฯ ประกอบไปด้วย 4 มาตรการ คือ 1.โครงการส่งเสริมให้เกษตกรใช้เมล็ดพันธ์คุณภาพดี วงเงิน 206 ล้านบาท, 2.สนับสนุนสินเชื่อให้กับเกษตกรชาวนาที่หันไปปลูกข้าวนาแปลงใหญ่ โดยให้ ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี โดย ธ.ก.ส.จะมาขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลร้อยละ 3.9 โดยชาวนารวมกลุ่มกู้ได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อ 83 ล้านบาท, 3.มาตรการจูงใจในการปรับเปลี่ยนให้มีการปลุกพืชที่หลากหลายทั้งแบบถาวรและระยะสั้น กำหนดไว้ใน 3 แสนไร่ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด งบประมาณ 648 ล้านบาท และ 4.มาตรการในการจูงใจพักดินในการเพาะปลูก ในพื้นที่ 5 แสนไร่ คาดว่ามีเกษตรกรเข้าร่วม 25,000 ครัวเรือน วงเงิน 2,382 ล้านบาท ซึ่งมาตรการทั้งหมดกระทรวงเกษตรฯจะเสนอเข้าสู่ ครม.อีกครั้ง
ด้านนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ปีนี้ตั้งเป้าส่งออกข้าวไว้ที่ 9.5 ล้านตัน ซึ่งยอมรับว่าเป้าส่งออกอาจจะลดลงเนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง โดยกลุ่มประเทศหลักที่ยังขายข้าวคือ กลุ่มประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรป โอเชียเนีย และจะเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มแอฟริกาด้วย
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดทำแผนข้าวครบวงจรจะเริ่มต้นในปี 2560 ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในแผนการปฎิรูป และทุกฝ่ายต้องไปร่วมกันดำเนินการต่อ หากสามารถเริ่มต้นดำเนินการต่อได้ก็จะขยายไปยังผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ทั้งยางพารา มันสำปะหลัง และอ้อยครบวงจร ซึ่งทั้งหมดต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และต้องคำนึงถึงแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างและเหมาะสมในการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด ซึ่งทั้งหมดจะวางแนวทางดำเนินการ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
นอกจากนี้จะต้องวางแนวทางสนับสนุนให้กับผู้ที่ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชชนิดอื่น เพราะจำเป็นต้องลดปริมาณการปลูกข้าว ที่ปีนี้กำหนดปริมาณการเพาะปลูกที่ 25 ล้านตัน เพื่อไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป ทั้งนี้ต้องบวกปริมาณการปลูกเผื่ออีกประมาณ ร้อยละ 8 เพื่อให้ได้ปริมาณการเพาะปลูก 27 ล้านตัน รองรับความเสียหายจากภัยแล้ง ทำให้ได้ปริมาณข้าวตามที่กำหนดไว้ แต่ต้องไปหาวิธีการแก้ปัญหาที่มีการปลูกมาก่อนหน้านี้ที่มีปริมาณกว่า 30 ล้านตัน เพื่อหามาตรการสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช
ส่วนความคืบหน้าการสรุปตัวเลขความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งทางคณะกรรมการฯ จะดำเนินการสรุปเอง