โดยรายได้นำส่งเข้าคลังจำนวน 733,994 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 75,033 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.4% เนื่องจากการนำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 4G ความถี่ 1800 MHz, การจัดเก็บภาษีน้ำมันที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการนำส่งสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน
ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,150,828 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 90,989 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.6% ประกอบด้วยรายจ่ายปีปัจจุบัน 1,048,631 ล้านบาท คิดเป็น 38.6% ของวงเงินงบประมาณหลังโอนเปลี่ยนแปลง สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 8.7% และรายจ่ายปีก่อน 102,197 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 6.95%
ขณะที่ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ขาดดุล 467,877 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 416,834 ล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณจำนวน 51,043 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนฯ สุทธิ จำนวน 28,500 ล้านบาท และการจ่ายเงินให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจากกรณี Undo จำนวน 16,054 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน โดยชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้เงินจำนวน 289,244 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับ 178,633 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 247,549 ล้านบาท
"การขาดดุลงบประมาณในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ สอดคล้องกับนโยบายการคลังของรัฐบาลที่สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสะท้อนถึงความพยายามของภาครัฐในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่" นายกฤษฎา กล่าว