คลังเผย 4 เดือนแรกปีงบ 59 จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 7.9%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2016 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – มกราคม 2559) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 742,070 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 54,323 ล้านบาท หรือ 7.9% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 11.1%) โดยการนำส่งรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 57,246 ล้านบาท หรือ 100.3%

ในขณะที่การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังและการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าประมาณการ 14,004 และ 653 ล้านบาท หรือ 2.0% และ 1.8% ตามลำดับ โดยเป็นการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บ ดังนี้

กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 485,799 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 16,229 ล้านบาท หรือ 3.2% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.1%) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 12,680 ล้านบาท หรือ 5.0% (ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 11,426 ล้านบาท หรือ 11.3% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9.2%) เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,253 ล้านบาท หรือ 0.8% (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6.4%)

ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 10,600 ล้านบาท หรือ 8.3% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.4%) เนื่องจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) และภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิ (ภ.ง.ด. 51) จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,925 ล้านบาท หรือ 6.2% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว4.8%) โดยภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือน (ภ.ง.ด. 1) และอสังหาริมทรัพย์ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เนื่องจากการขยายตัวของฐานเงินเดือนที่สูงกว่าประมาณการและผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

ในส่วนกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 168,325 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,768 ล้านบาท หรือ 1.7% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 18.4%) โดยภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,680 ล้านบาท หรือ 11.6% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 22.5%) และภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3,187 ล้านบาท หรือ 11.4% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 11.8%)

อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,833 ล้านบาท หรือ 8.2% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 11.6%) เนื่องจากปริมาณสุราที่ชำระภาษีต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,365 ล้านบาท หรือ 2.6% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 75.0%) เนื่องจากประมาณการการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลในอัตราลิตรละ 5.25 บาท แต่ปัจจุบันจัดเก็บเพียงลิตรละ 4.95 บาท และภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,047 ล้านบาท หรือ 4.9% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 13.9%)

ขณะที่กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 39,957 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 543 ล้านบาท หรือ 1.3% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 0.2%) เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 หดตัว 12.6% และ 3.8% ตามลำดับ รวมทั้งผลกระทบจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก

ส่วนรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 34,784 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 653 ล้านบาท หรือ 1.8% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 34.9%) ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ ธนาคารออมสิน การประปานครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 114,327 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 57,246 ล้านบาท หรือ 100.3% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 83.8%) เนื่องจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (4G) การนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน และการนำส่งเงินจากการยกเลิกโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยของข้าราชการคืนคลังเป็นรายได้แผ่นดินบางส่วนสำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 2,938 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 212 ล้านบาท หรือ 7.8% (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 14.0%) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ที่ราชพัสดุ สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ

การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 79,669 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 11,735 ล้านบาท หรือ 12.8% ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 67,945 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 13,655 ล้านบาท หรือ 16.7% และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 11,724 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,920 ล้านบาท หรือ 19.6%

อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 3,498 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 373 ล้านบาท หรือ 11.9%

การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 4,797 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 901 ล้านบาท หรือ 15.8%

เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 5,083 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 86 ล้านบาท หรือ 1.7%

การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ งวดที่ 1 จำนวน 8,075 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 615 ล้านบาท หรือ 8.2%

“การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นยังคงสูงกว่าประมาณการ ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศยังคงขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 สูงกว่าเป้าหมาย โดยกระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ และการเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ"นายกฤษฎาฯ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ