(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผย ม.ค.59 ส่งออกหดตัว -8.91% นำเข้าวูบ -12.37% เกินดุล 238 ล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 25, 2016 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน ม.ค.59 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 15,711 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 8.91% ขณะที่นำเข้ามีมูลค่า 15,474 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดลบ 12.37% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ม.ค.59 เกินดุล 238 ล้านเหรียญสหรัฐ

"มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในรูปของเงินเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกเดือนมกราคม 2559 มีมูลค่า 15,711 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -8.91% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน(YoY) แต่หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำมูลค่าส่งออกจะหดตัวอยู่ที่ -5.4% (YoY) โดยมีแนวโน้มหดตัวในอัตราที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่การนำเข้าเดือนมกราคม 2559 มีมูลค่า 15,474 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -12.37% (YoY) ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศเดือนมกราคม 2559 ยังคงเกินดุลต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันมีมูลค่า 238 ล้านเหรียญสหรัฐฯ" นายสมเกียรติ กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ตลอดปี 2558 สถานการณ์การค้าโลกได้เผชิญกับความท้าทายมากมาย ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผ่านผลกระทบมาสู่มูลค่าการส่งออกของไทย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ราคาน้ำมันที่ลดลงกระทบมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และกำลังซื้อของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน รวมถึงราคาสินค้าเกษตรโลกอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งหลายประเทศใช้มาตรการลดค่าเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการส่งออก ทำให้ค่าเงินในประเทศคู่ค้าคู่แข่งของไทยมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะค่าเงินกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาล้วนมีทิศทางอ่อนค่า ส่งผลกระทบต่อส่งออกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับภาพรวมมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนมกราคมปี 2559 ยังคงเผชิญแรงฉุดรั้งสำคัญที่กดดันมูลค่าส่งออกจากปัจจัยต่อเนื่องจากปี 2558 โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 11 ปี และราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้หลายสินค้าสำคัญมีมูลค่าส่งออกหดตัวแรงกว่าปริมาณส่งออกที่ลดลงพียงเล็กน้อย แต่การส่งออกของไทยยังมีสถานการณ์ที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ มากโดยหากเทียบประเทศผู้ส่งออกสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ไทยยังมีสถานการณ์ส่งออกที่ดีกว่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนิเซีย อีกทั้งข้อมูลการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยแสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดและสินค้าส่งออกสำคัญไว้ได้ สะท้อนให้เห็นว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงตามมูลค่าส่งออก นอกจากนี้รายได้จากการส่งออกของไทยในรูปเงินบาทกลับมาขยายตัวอีกครั้งจากผลของการอ่อนค่าของเงินบาท

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรโลกในเดือน ม.ค.59 มูลค่าส่งออกลดลง -4.1% (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยยางพาราหดตัวถึง -25.7% (YoY) เช่นเดียวกับทูน่ากระป๋อง (-15.1) กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป (-19.2) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-19.6) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป (-2.3) หดตัวสูง ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวด้านราคาเป็นสำคัญ แต่หากพิจารณาในด้านปริมาณส่งออกพบว่าหดตัวเล็กน้อย โดยเฉพาะไก่สดแช่แข็งและแปรรูปที่ปริมาณส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวแต่ราคาอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวลง ขณะที่ข้าวและน้ำตาลทรายมูลค่าส่งออกกลับมาขยายตัวสูงถึง 30.0% และ 25.8% (YoY) ตามลำดับ โดยเป็นการขยายตัวด้านปริมาณการส่งออกสูงถึงร้อยละ 68.5 และ 43.8 (YoY) ตามลำดับ รวมทั้งในส่วนของการส่งออกลำไยสดและแห้งไปจีน อาเซียน กับสับปะรดกระป๋องและน้ำสับปะรดไปตลาดสหรัฐอเมริกา ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 11 ปี โดยเดือน ม.ค.59 มูลค่าการส่งออกลดลง -8.5% (YoY) ปัจจัยหลักยังคงมาจากการหดตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มีสัดส่วนรวมกัน 9.1% ของมูลค่าส่งออกหดตัวสูงต่อเนื่องถึง -25.2% จากปีก่อนหน้า ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดมาอยู่ที่ระดับ 27.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 11 ปี รวมทั้งการส่งออกสินค้าทองคำหดตัวสูงถึง -51.2% (YoY) จากปัจจัยด้านราคาทองคำในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง นอกจากนี้มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญอย่างเครื่องรับโทรทัศน์ฯ หดตัวสูงขึ้นจากปัจจัยการย้ายฐานการผลิต อย่างไรก็ดี กลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยกลับมาขยายตัวที่ 4.1% (YoY) โดยเป็นการเติบโตตามการขยายตัวของการส่งออกประเภทรถยนต์นั่งที่ขยายตัวสูงในตลาดออสเตรเลีย อาเซียน และตะวันออกกลาง ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ มูลค่าส่งออกของไทยชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่พบว่าไทยยังมีสถานการณ์ส่งออกที่ดีกว่าภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของโลกในเกือบทุกสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ