วิจัยกสิกรฯ เล็งทบทวนเป้าส่งออกปีนี้ใหม่ หลังคาด Q1/59 หดตัวกว่า 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 25, 2016 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด และอาจทบทวนตัวเลขประมาณการการส่งออกของไทยในปี 2559 (ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ ณ ขณะนี้ อยู่ที่ 2.0%) อีกครั้งในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าหลังกกระทรวงพาณิชย์ รายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ม.ค.2559 ที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง อีก 8.9% YoY (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ซึ่งแย่กว่าที่หดตัว 8.7% YoY ในเดือนธ.ค. 2558 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ (ตลาดคาดที่ -7.1% YoY ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดที่ -7.3% YoY)

ขณะที่ประเมินว่า ภาพรวมการส่งออกในช่วงไตรมาส 1/2559 อาจหดตัวในกรอบที่สูงกว่า 5.0% YoY โดยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีนและประเทศผู้ค้าน้ำมัน ที่มีประเด็นผันผวนตั้งแต่ต้นปี สะท้อนว่า ตลาดส่งออกของไทยอย่างน้อยประมาณ 25% ยังคงมีสัญญาณเชิงลบ (จีนมีสัดส่วนประมาณ 11% ขณะที่ ประเทศผู้ค้าน้ำมันมีสัดส่วนประมาณ 14% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย) และอาจมีผลกระทบทางอ้อมต่อเนื่องไปยังตลาดส่งออกในส่วนอื่นๆ ซึ่งทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมของคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรตัวสำคัญ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมตัวหลัก เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องจักร เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น่าจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ สัญญาณที่อ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ก็อาจกดดันให้ผู้ส่งออกจำเป็นต้องตั้งราคาสินค้าในระดับที่ไม่สูงไปกว่าราคาสินค้าของคู่แข่งมากนัก

ทั้งนี้ โอกาสการฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกในปีนี้ ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยหากความพยายามในการดูแลระดับกำลังการผลิตของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เริ่มทำให้สถานการณ์การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันในตลาดโลกมีเสถียรภาพและสามารถทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้ ก็อาจทำให้แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2559 ยังคงประคองภาพอยู่ในแดนบวกได้

แต่ในทางกลับกัน หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงปรับตัวอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำไม่แตกต่างไปจากกรอบการเคลื่อนไหวในปัจจุบันแล้ว ก็คงต้องยอมรับว่า การพลิกฟื้นการส่งออกของไทยให้กลับมาเป็นขยายตัวอีกครั้ง จะมีความเสี่ยงและเป็นโจทย์ที่ยากมากขึ้นสำหรับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด และอาจทบทวนตัวเลขประมาณการการส่งออกของไทยในปี 2559 (ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ ณ ขณะนี้ อยู่ที่ 2.0%) อีกครั้งในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า

"แม้สถานการณ์การส่งออกของไทยจะมีสภาพที่ไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียมากนัก แต่ก็คงต้องยอมรับความจริงที่ว่า ยิ่งจังหวะการฟื้นตัวของการส่งออกยังเลื่อนเวลานานออกไป โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมก็จะยิ่งเผชิญโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นด้วยเช่นกัน" เอกสารเผยแพร่ศูนย์วิจัยฯ ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ