"ถ้าทำให้เกษตรกรมีความเปลี่ยนแปลง และรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนได้มาทำแปลงใหญ่ได้ เกษตรกรจะมีความเข้มแข็ง และลืมตาอ้าปากได้ การรวมแปลงใหญ่ก็จะขยายผลในวงกว้างมากขึ้น แม้จะมีหลายขั้นตอนและใช้ระยะเวลาให้เค้ามารวมกันทำแบบนี้ได้แต่ถ้ามันเกิดขึ้นได้จะเป็นการปฏิรูปภาคเกษตรได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ซึ่งแผนดำเนินการขณะนี้ได้สั่งการให้คณะทำงานระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เขียนแผนงานโครงการ หลักเกณฑ์วิธีการที่ภาครัฐจะให้การสนับสนุนงบประมาณเป็นเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย และกำหนดเวลาการชำระคืนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องมือที่จำเป็นในแต่ละแปลงที่เสนอความต้องการเข้ามา เช่น มอเตอร์พูล โรงอบรถตัดอ้อยในแปลงที่เค้ารวมตัวกัน ภาครัฐต้องทำโครงการนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป" รมว.เกษตรฯ กล่าว
โดยได้เสนอแนวคิดนี้ไปกับท่านนายกฯ แล้วว่าต้องเสนอของบประมาณจากรัฐบาล เมื่อพื้นที่ไหนรวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่ได้แล้ว กลุ่มเกษตรกรก็ต้องเสนอแผนมาว่าถ้าทำแปลงใหญ่ข้าว 2,000 ไร่ อุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้มีอะไรบ้าง แล้วต้องใช้เงินเท่าไหร่อาจออกมาว่าใน 2,000 ไร่ ต้องกู้ 5 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาทก็ได้แล้วแต่ประเภทแล้วแต่ขนาด ภาครัฐก็เข้าไปดูว่าควรมีอะไรบ้าง ไม่ได้เป็นการให้เปล่า แต่อุปกรณ์เหล่านั้นจะเป็นของเกษตรกร เมื่อได้ผลกำไรคืนต้องชำระคืนรัฐภายในระยะเวลากี่ปี
อย่างไรก็ตามได้กำหนดเป้าหมายว่าในปี 59 จะต้องเกิดแปลงใหญ่ขึ้นให้ได้ และในช่วงระยะ 2 ปี น่าจะมีแปลงใหญ่เกิดขึ้นราว 300 แปลง ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทำแล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีรายได้ที่สูงขึ้น เช่น กรณี อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรปลูกมันปลูกอ้อย ที่สร้างรายได้ไม่มากนักไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่พื้นที่มีความเหมาะสมสามารถเลี้ยงแพะได้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ก็จะเข้าไปส่งเสริม เมื่อเกษตรกรเลี้ยงมากขึ้นก็สามารถรวมกันเป็นแปลงใหญ่ ที่ภาครัฐ เอกชน จะเข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดความเข้มแข็งได้ เป็นต้น