นายณรงค์ บัณฑิตกมล ประธานคณะทำงานโครงการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมแต่ละภูมิภาค ว่า สถาบันพลังงานฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ให้ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมแต่ละภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงจุดแข็งและจุดอ่อนด้านการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงสภาพปัญหาอุปสรรคและความต้องการเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจากทั่วประเทศเพื่อนำมาวิเคราะห์หาแนวทางส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในอนาคตให้มีความเหมาะสมกับปัญหาของภาคอุตสาหกรรมนั้น
โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นการเข้าไปสำรวจโรงงานประเภทต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินโครงการให้ประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านการการประหยัดพลังงาน และด้านการตรวจวัดทางวิศวกรรม ซึ่งสถาบันพลังงานฯ เล็งเห็นถึงความเชี่ยวชาญของ กฟภ.ในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี เนื่องจากได้ร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์พลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรมร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะร่วมกันเป็นเครือข่ายหน่วยงานความร่วมมืออย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
"บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรมระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของการทำงานเป็นเครือข่าย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกันคือ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในอนาคตให้มีความเหมาะสมกับปัญหาของภาคอุตสาหกรรม" นายณรงค์ กล่าว
ด้านนายวิลาศ งามแสงรุ่งสาโรจน์ รองผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กฟภ.ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการประหยัดพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ.2557 กฟภ.ได้จัดตั้งฝ่ายส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการรองรับการให้บริการด้านการจัดการพลังงานและอนุรักษ์พลังงานแก่ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและครัวเรือน และภาคไฟฟ้าสาธารณะ ในรูปแบบของการให้บริการแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การสำรวจตรวจสอบ และวิเคราะห์ศักยภาพในการลดการใช้พลังงาน การนำเสนอมาตรการประหยัดพลังงานและเงินลงทุน รวมถึงจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน พร้อมทั้งตรวจวัดและพิสูจน์ผลประหยัดที่เกิดขึ้น
"การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579 ที่ต้องการลดการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมให้ได้อย่างน้อย 22 เปอร์เซ็นต์" นายวิลาศ กล่าว