สวทช.แจงมาตรการรัฐลดภาษีตั้งแต่วิจัยสู่ลงทุน Venture Capital หนุนผู้ประกอบการ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 26, 2016 18:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมของภาคเอกชน โดยปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งให้สิทธิในการหักค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี จาก 2 เท่า เป็น 3 เท่า และขยายความครอบคลุมรวมไปถึงกิจกรรมนวัตกรรมนั้น เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 598) พ.ศ. 2559 ซึ่งเพิ่มอัตราการหักค่าใช้จ่ายเป็น 3 เท่า เป็นเวลา 5 ปี มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2562

มาตรการดังกล่าวมีการกำหนดวงเงินการใช้สิทธิในการหักค่าใช้จ่าย 3 เท่า ซึ่งหากผู้ประกอบการมีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายฯ ได้ในวงเงินสูงสุดร้อยละ 60 ของรายได้ แต่หากมีรายได้เกิน 50 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายฯ ได้อีกร้อยละ 9 และส่วนที่เกิน 200 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายฯ ได้เพิ่มเติมอีกร้อยละ 6 โดยทั้งสองกระทรวงฯ ได้ทำการศึกษาแล้วว่าการกำหนดวงเงินอย่างเป็นขั้นบันไดนี้จะเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการทุกขนาด และจะไม่ส่งผลให้กิจการที่ทำวิจัยมากอยู่แล้ว ลดค่าใช้จ่ายวิจัยเพราะถูกจำกัดวงเงินการหักค่าใช้จ่ายฯ ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวกำหนดไว้ในระยะเริ่มต้น 5 ปี เพื่อศึกษาถึงผลกระทบว่ามาตรการยกเว้นภาษีดังกล่าวนี้เป็นไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการสนับสนุน และอาจพิจารณาขยายระยะเวลาในการให้สิทธิประโยชน์ได้อีกในอนาคต

จากอดีต 15 ปีที่ผ่านมา มีโครงการที่ยื่นของการรับรองจาก สวทช. จำนวน 2,903 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการ 10,119 ล้านบาท โดยในปี 2558 สวทช. ได้รับรองโครงการวิจัย จำนวน 262 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการ 1,549 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนหน้า 296 ล้านบาท และในอีก 5 ปี ข้างหน้า คาดว่าจำนวนโครงการและค่าใช้จ่ายวิจัยของภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมนี้ อีกส่วนมาจากมาตรการสนับสนุนอื่นๆ ที่รัฐบาลได้เริ่มทยอยออกมาช่วงนี้ เพื่อให้สนับสนุนภาคเอกชนทั้ง Ecosystem ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาไปจนถึงการต่อยอดสร้างธุรกิจ

นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษายังได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 597) พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) ที่กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ สวทช. ได้ร่วมกันปรับปรุงจากมาตรการเดิมที่ได้สิ้นสุดไปเมื่อปี 2554 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานภาพธุรกิจเงินร่วมลงทุนและการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับจากเงินปันผลและกำไรจากการโอนหุ้นสำหรับธุรกิจเงินร่วมลงทุนและสำหรับผู้ที่ลงทุนในธุรกิจเงินร่วมลงทุน โดยมีข้อกำหนดว่าธุรกิจเงินร่วมลงทุนและนักลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีเฉพาะในส่วนที่ลงทุนในกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการผลิตและให้บริการ ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อาหารและเกษตร พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีเพื่อประหยัดพลังงาน เทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์และสาธารณสุข ท่องเที่ยว/บริการและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วัสดุก้าวหน้า สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม/เครื่องประดับ ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์/คอมพิวเตอร์/ซอฟต์แวร์และบริการสารสนเทศ การวิจัย/พัฒนาและนวัตกรรมหรืออุตสาหกรรมใหม่ เป็นเวลา 10 ปี โดยธุรกิจเงินร่วมลงทุนที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว ต้องจดแจ้งกับ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และ สวทช. จะให้บริการรับรองกิจการที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานที่ธุรกิจเงินร่วมลงทุนจะเข้าไปลงทุน เพื่อที่ธุรกิจเงินร่วมลงทุนและนักลงทุนสามารถนำไปขอยกเว้นภาษีจากกรมสรรพากร

ในเร็วๆ นี้ จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาอีกฉบับเพื่อรองรับมาตรการภาษีสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ (New Startup) โดยจะยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการประกอบกิจการ 10 อุตสาหกรรมข้างต้น จะเห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นความมุ่งมั่นของรัฐที่จะให้การสนับสนุนภาคเอกชนให้สร้างงานวิจัย และนำไปต่อยอดสร้างธุรกิจอย่างครบวงจร ตามแนวคิดประชารัฐ และนโยบายการส่งเสริมการวิจัย พัฒนานวัตกรรมที่เป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล

นอกจากนี้ สวทช. และ สวทน. จะจัดให้มีงานเปิดตัวมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม พร้อมกับงาน CEO Innovation Forum 2016 ในวันที่ 25 มีนาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในงานนี้จะมีการจัดแสดงผลงานวิจัยที่เคยใช้สิทธิประโยชน์หักภาษี 2 เท่า จำนวน 50 ผลงาน พร้อมด้วยการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่าง CEO ของบริษัทใหญ่ และ CEO ของบริษัทสตาร์ทอัพชื่อดังของเมืองไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ