สคฝ.เตรียมลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ลบ. เริ่ม 11 ส.ค. มั่นใจไม่กระทบออม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 29, 2016 09:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะประธานกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2559 นี้จะลดการคุ้มครองวงเงินฝากเหลือเพียง 1 ล้านบาท/1 บัญชี/1 สถาบันการเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จากปัจจุบันที่คุ้มครองอยู่ที่ 25 ล้านบาท/1 บัญชี/1 สถาบันการเงิน โดยการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากครั้งนี้จะไม่มีผลกระทบต่อผู้ฝากเงิน เนื่องจากปัจจุบันมีสัดส่วนผู้ฝากเงินต่ำกว่า 1 ล้านบาทอยู่มากถึง 98.24% ของผู้ฝากเงินทั้งสิ้น 68.9 ล้านราย จากวงเงินฝากประมาณ 11.6 ล้านล้านบาท และที่ผ่านมาได้ทำความเข้าใจกับประชาชนผู้ฝากเงินมาโดยตลอด

การลดการคุ้มครองวงเงินฝากนั้นจะเป็นการลดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน หากเกิดวิกฤตกับสถาบันการเงินขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินในขณะนี้มีความเข้มแข็งเพียงพอ ส่วนเงินในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 1.13 แสนล้านบาท ถือว่าเพียงพอในการดูแลสถาบันการเงินในปัจจุบัน

สำหรับผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง คือ เงินฝากที่เป็นเงินบาท ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน บัตรเงินฝาก เงินฝากออมทรัพย์ ใบรับฝากเงิน เงินฝากประจำ ส่วนเงินฝากที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง คือ เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตาม พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เงินฝากที่มีอนุพันธ์แฝง และเงินฝากระหว่างสถาบันการเงิน

ประธาน สคฝ. ยืนยันว่า สถาบันการเงินของไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยในปี 2558 สถาบันการเงินมีกำไรสุทธิรวม 1.93 แสนล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 17.45% จาก 16.83% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ เทียร์ 1 เพิ่มขึ้นเป็น 14.60% จาก 13.75% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 2 ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยอยู่ที่ 2.87% จากการทยอยลดการนับเข้าเป็นเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ด้านสภาพคล่องระบบสถาบันการเงินมีอัตราอยู่ที่ 24.67% สูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 6% สำหรับสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินมีทั้งสิ้น 13.23 ล้านล้านบาท แต่มีอัตราการขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ โดย ณ สิ้นปี 2558 สินเชื่อขยายตัวได้ 2.71% จากปี 2557 ที่ขยายตัวได้ 4.3% สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.56% จาก 2.16% ในปีก่อน ขณะที่เงินสำรองสำหรับสินเชื่ออยู่ที่ 4.43 แสนล้านบาท คิดเป็น 131% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะเพิ่มสูงขึ้นบ้างแต่ไม่มากนัก เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะและความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ส่วนสินเชื่อของระบบสถาบันการเงินมีทั้งสิ้น 13.23 ล้านล้านบาท แต่มีอัตราการขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโดย ณ สิ้นปี 2558 สินเชื่อขยายตัวได้ 2.71% จากปี 2557 ที่ขยายตัวได้ 4.3% และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.56% จาก 2.16% ในปีก่อน

"ให้ความเชื่อมั่นสถาบันการเงินมีความเข้มแข็ง ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลอย่างดี โอกาสที่เคยเกิดเมื่อปี 2540 ไม่มีแน่นอน" นายกฤษฎา กล่าว

ส่วนการดำเนินงานในปีที่ผ่านมานั้น กองทุนคุ้มครองเงินฝากมีทั้งสิ้น 1.13 แสนล้านบาท โดยได้รับเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองในอัตรา 0.01% ของยอดเงินฝากรวมทั้งสิ้น 1,115 ล้านบาท

ประธาน สคฝ. กล่าวว่า ผลการดำเนินงานตามแผนงานในปี 2558 ที่ผ่านมาได้พัฒนาโครงการด้านต่างๆ คือ โครงการพัฒนาระบบปฏิบัติงานจ่ายคืนผู้ฝาก โดยพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานการยื่นคำขอและจ่ายคืนผู้ฝากจำนวนมากได้อย่างรวดเร็วกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังจัดทำแนวทางการปฎิบัติงายและประสานความร่วมมือกับ ธปท.เพื่อให้สถาบันและ ธปท.สามารถปฏิบัติงานตามพันธกิจของสถาบันได้อย่างมีประสิทธิภาพทันท่วงที และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ฝากเงิน รวมถึงการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู่เกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝากทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากเงินและเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินมีความเข้าใจและเชื่อมั่นในระบบคุ้มครองเงินฝาก

ขณะเดียวกันยังสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบคุ้มครองเงินฝาก โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง, ธปท., บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับสถาบันประกันเงินฝากต่างประเทศที่ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือด้วย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว และอินโดนีเซีย เป็นต้น

สำหรับยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานที่สำคัญของสถาบันในปี 2559 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ 1.พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในระบบตาข่ายความมั่นคงทางการเงินของประเทศ 2.สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจระบบคุ้มครองเงินฝากเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการทางการเงินและคุ้มครองประโยชน์ของผู้ฝากเงิน 3.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาระบบสถาบันการเงิน 4.พัฒนาระบบการจ่ายคืนเงินฝากที่ทันสมัยและรวดเร็ว และ 5.พัฒนาระบบชำระบัญชีให้มีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน

นอกจากนี้กระทรวงการคลังอยู่กันระหว่างศึกษาแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝาก เพื่อให้ผู้ฝากเงินสามารถรับเงินได้เร็วขึ้นไม่เกิน 30 วันจากเดิมต้องใช้เวลา 1-2 เดือน ทำให้ผู้ฝากเงินมั่นใจมากขึ้น โดยมีการเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ