“กระแส FinTech ได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ในหลายๆประเทศ รวมทั้งไทย และไม่เพียงแต่ผู้เล่นที่เป็นสถาบันการเงินเท่านั้น แต่บริษัทเกิดใหม่ หรือ Start-up หรือแม้กระทั่งบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีก็สามารถเข้าสู่ FinTech ได้เช่นกัน"
ในช่วงที่ผ่านมา กระแส FinTech ถูกนำมาใช้พัฒนาบริการทางการเงินให้ทันสมัย และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เช่น การชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิทัล (e-Payment) ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของ FinTech ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของกระแสแนวความคิดด้านนี้ ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงการบริการได้อย่างรวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมอย่างมาก นอกจากนี้ FinTech ยังครอบคลุมไปถึงการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบอื่น เช่น การกู้ยืมเงินระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้โดยตรง ผ่านการทำข้อตกลงร่วมกันในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาการใช้หนี้ได้ตามความต้องการ (Peer-to-Peer Lending) และการระดมทุนสาธารณะ (Crowd Funding) เป็นต้น
ผลสำรวจที่ผ่านมาของ PwC ที่ทำการสำรวจบริษัทในอุตสาหกรรมการเงิน การธนาคาร ระบุว่า 29% ของผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถามมองว่า การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ถือเป็นภารกิจอันดับต้นๆ ที่ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับตัว ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันการเงินชั้นนำของโลกหลายแห่ง ได้ริเริ่มโครงการทดลอง หรือลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการเพื่อพัฒนานวัตกรรม หรือคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ
น.ส.วิไลพรกล่าวว่า วันนี้บริษัท FinTech หน้าใหม่เกิดขึ้นมาเยอะ แม้ธนาคารพาณิชย์จะเป็นแหล่งเงินทุนหลัก แต่หากไม่เร่งปรับตัว อาจเสียส่วนแบ่งการตลาดให้แก่ Start-up ที่มีความชำนาญในด้านเทคโนโลยีพวกนี้ได้ ดังนั้น แบงก์จะต้องเตรียมความพร้อมด้านระบบโครงสร้างไอที อีกทั้งต้องสร้างความพร้อมด้านบุคลากร
“ในระยะข้างหน้า เรายังเห็นแนวโน้มการควบรวมกิจการระหว่างแบงก์กับ Start-up มากขึ้น หรืออาจเป็นในรูปแบบพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ หรือ การให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้แบงก์สามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว และช่วยย่นระยะเวลาในการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ซึ่งทั้งหมด ถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทางการเงินทั้งสิ้น"
น.ส.วิไลพร กล่าวว่า ในอนาคต Blockchain นวัตกรรมใหม่ของสถาบันการเงิน จะเข้ามาเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เพราะนอกจาก Blockchain จะให้กำเนิดสกุลเงินดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) แล้ว หลายฝ่ายยังเชื่อ Blockchain ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ Blockchain คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของบิทคอยน์ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถใช้ซื้อสินค้า หรือบริการออนไลน์ได้โดยตรง สะดวก รวดเร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าการทำธุรกรรมผ่านทางธนาคาร โดยศักยภาพของ Blockchain ยังสามารถถูกพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกรรมการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing and settlement) และการชำระเงินข้ามแดน (Cross-border payments) ให้มีความรวดเร็ว โปร่งใสได้อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าเทคโนโลยี Blockchain จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เริ่มเห็นสัญญาณการตื่นตัวจากหลายๆ บริษัททั้งที่อยู่และไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมทางเงิน ต่างให้ความสำคัญและเข้าไปสนับสนุนทางการเงิน หรือพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ร่วมกับบริษัท Start-up มากขึ้น นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมทางการเงิน อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็เริ่มตื่นตัว ในการออกกฎระเบียบ หรือเกณฑ์การควบคุม คุ้มครองผู้บริโภคและผู้ลงทุนเช่นกัน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุดระบุว่า ธปท.ได้ขานรับและเล็งเห็นถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกระแส FinTech ด้วยการริเริ่มการวางมาตรการป้องกันความเสี่ยงและระบุไว้ในแผนการดำเนินนโยบาย ธปท. ปี 2559
"วันนี้ FinTech เป็น Game Changer ของอุตสาหกรรมทางการเงิน โดยเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบสถาบันการเงินไทยและธนาคารพาณิชย์ไทย และเชื่อว่าภายในอีก 1-2 ปีนี้ FinTech จะขยายไปในธุรกิจหลักทรัพย์ กองทุน ประกันชีวิต อย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลดีต่อผู้บริโภคในที่สุด เพราะได้รับบริการที่รวดเร็ว สะดวกสบาย และค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่ถูกลง"น.ส.วิไลพร กล่าว